สอบเข้ามหาวิทยาลัย

มาดูว่า ‘ข้อสอบเอนท์’ ของประเทศฟินแลนด์ หนึ่งในประเทศที่มีการศึกษาดีที่สุดในโลก ถามอะไร

UploadImage

‘ข้อสอบเอนท์’ (หรือสมัยนี้ก็ GAT, PAT ต่างๆ) เป็นหัวข้อวิพากษ์สม่ำเสมอของนักเรียนและนักการศึกษาบ้านเราว่า “ถามอะไรก็ไม่รู้” “เน้นท่องจำไม่เน้นคิดวิเคราะห์” และก็ดูเป็นปัญหาเรื้อรังที่ไม่อาจแก้ได้โดยง่าย

ฟินแลนด์ เป็นประเทศหนึ่งที่ถือกันว่ามีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก และยังใช้งบการศึกษา ‘คุ้มค่า’ ที่สุดในโลกด้วย ในปี 2014 ฟินแลนด์ได้รับ Efficiency Scores หรือ ‘คะแนนความมีประสิทธิภาพ’ ของระบบการศึกษาสูงสุด ตามมาด้วยเกาหลีและเชค

เมื่อวานนี้ The MATTER ได้สัมภาษณ์ อ. จุ๊ย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ถึงปัญหาของการศึกษาในบ้านเรา และทางออกของการศึกษาในประเทศฟินแลนด์ไปแล้ว (อ่านได้ที่ http://thematter.co/byte/in-thailand-we-only-have-2-choices-for-our-students/12651) แต่เราคิดว่าส่วนหนึ่งที่จะแสดงให้เห็นความแตกต่างได้ชัดเจน คือตัวอย่างข้อสอบ ว่าจริงๆ แล้วนักเรียนฟินนิช สอบอะไร?

นี่คือตัวอย่างข้อสอบเอนท์ (วัดความรู้ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยประจำฤดูใบไม้ผลิ) ของฟินแลนด์

ตัวอย่างหัวข้อสำหรับเขียนเรียงความด้วยภาษาแม่

– “นักการเมือง นักกีฬา หรือคนดังบางคนจะออกมาแสดงความเสียใจต่อสาธารณะและกล่าวขอโทษในสิ่งที่พวกเขาพูดหรือกระทำลงไป จงอภิปรายความหมายของการขอโทษและการยอมรับคำขอโทษ ทั้งในฐานะพฤติกรรมทางสังคมและการกระทำส่วนบุคคล”

– “คุณใช้ร่างกายของคุณให้เป็นงานอดิเรกหรือไม่”

– “สื่อมวลชนต่อสู้กันเพื่อแย่งผู้ชม ปรากฏการณ์เช่นนี้ส่งผลอะไรตามมาบ้าง”

– “ให้เลือกศาสนาของโลกมาสามศาสนา แล้วเปรียบเทียบบทบาทและการใช้รูปเคารพของทั้งสามศาสนา”

ตัวอย่างโจทย์วิชาสุขศึกษา

– “อะไรเป็นฐานคิดในการกำหนดคำแนะนำเรื่องอาหารที่ดีต่อสุขภาพที่คนฟินแลนด์ควรรับประทาน และคำแนะนำดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่ออะไร”

– “จงเปรียบเทียบโรคหนองในเทียมกับโรคหูดหงอนไก่”

ตัวอย่างโจทย์วิชาจิตวิทยา

– “ให้ออกแบบงานวิจัยเพื่อหาคำตอบว่า บุคลิกภาพจะส่งผลต่อพฤติกรรมของบุคคลบนเฟซบุ๊กหรือสื่อโซเชียลมีเดียอื่นๆ อย่างไร รวมถึงอภิปรายประเด็นทางจริยธรรมที่ควรคำนึงถึงในการวิจัยประเภทนี้ด้วย”

ตัวอย่างคำถามวิชาประวัติศาสตร์

“คาร์ล มาร์กซ์ และ ฟรีดริช เองเกลส์ ได้เคยทำนายไว้ว่าการปฏิวัติสังคมนิยมจะเกิดขึ้นในประเทศอย่างบริเตนใหญ่ก่อน อะไรท่ีทำให้ทั้งมาร์กซ์และเกลส์เชื่อเช่นนั้น และเหตุใดในความเป็นจริง การปฏิวัติสังคมนิยมถึงไปเกิดขึ้นในรัสเซีย”

ตัวอย่างคำถามวิชาปรัชญา

“จงอธิบายว่าความสุข ชีวิตที่ดี สวัสดิภาพ เป็นแนวคิดทางจริยศาสตร์เพราะเหตุใด”

ตัวอย่างโจทย์วิชาจริยศาสตร์

“นักเรียนมัธยมปลายมักต้องรับประทานอาหารที่โรงเรียนจัดให้ เหตุผลของการจัดอาหารนั้นๆ อาจเป็นเหตุผลเชิงการแพทย์ ศาสนา จริยธรรม หรือศีลธรรม ให้อธิบายข้อบังคับเหล่านี้พร้อมเหตุผลประกอบ รวมทั้งประเมินความชอบธรรมของการจัดให้นักเรียนรับประทานอาหารบางประเภทที่โรงเรียน”

* นี่เป็นข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งจริงๆ แล้ว เด็กๆ แทบไม่ต้องทำข้อสอบมาตรฐาน เพราะว่าระบบการศึกษาและครูอาจารย์ในฟินแลนด์ไม่เชื่อใน standardized test เท่าไร

ตัวอย่างข้อสอบทั้งหมด จากหนังสือ Finnish Lessons 2.0 โดย Pasi Sahlberg ซึ่งเป็นหนังสือที่พยายามอธิบายระบบการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ และพยายามทำให้เรากระจ่างว่าประเทศฟินแลนด์เปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาได้อย่างไรในระยะเวลาสั้นๆ ไม่ถึง 50 ปี

หนังสือเล่มนี้จะได้รับการแปลเป็นภาษาไทยภายใต้สำนักพิมพ์ Openworlds และจะจำหน่ายในเดือนหน้า

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ​thematter.co