สอบเข้ามหาวิทยาลัย

แนวโน้มเปลี่ยนแปลงวิธีการสอบเข้า ลดสอบตรง เพิ่ม Clearing House เลิกแอดมิชชัน เริ่มปี 61

UploadImage
 
จากประเด็นข่าวล่าสุดเรื่องแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เริ่มปีการศึกษา 2561  นั้นได้มีการแชร์เนื้อหาความเห็นของดร.ภาวิช ทองโรจน์ ผ่านทางดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ เมื่อวานนี้ (25 สิงหาคม 2559) โดยมีความคิดเห็นตามรายละเอียดด้านล่าง

"ระบบ clearing house 2 รอบที่เสนอ เหมือนระบบของ UCAS ของอังกฤษ แต่ต่างกันที่ของเขาใช้ผลการเรียนทั้งหมด ไม่มีการสอบใหม่

ส่วนระบบการสอบเอาคะแนนไว้ก่อนแล้วมาเลือกที่เรียนทีหลังก็เหมือนระบบที่ประเทศไทยเคยใช้เมิ่อประมาณปี 2540 แต่ช่วงนั้นให้เลือกได้ครั้งเดียว ถ้าให้เลือกได้สองครั้งแบบที่เสนอก็จะดีขึ้น

แต่ข้อเสียของระบบที่เสนอนี้ คือ ถ้าไม่เอาผลการเรียนเข้ามาเป็นนองค์ประกอบด้วย เด็กก็จะไม่สนใจห้องเรียน โดยจะทิ้งการเรียนเหมือนเดิม การกวดวิชา 9 วิชากับ GAT, PAT ก็จะยิ่งเข้มข้นยิ่งขึ้น โรงเรียนกวดวิชายิ้มแน่นอน และข้อหาที่ว่า ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยทำลายการศึกษาขั้นพื้นฐานก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซ้ำร้ายอาจรุนแรงกว่าเดิม

ที่ดีขึ้นมาหน่อยตามที่คิดจะแก้ไขนี้คือลดการวิ่งรอกสอบของเด็กเท่านั้นเอง  แต่การเปิดประเด็นไว้ว่า หากมหาวิทยาลัยมีเหตุผลพิเศษจริงๆ ก็ให้สามารถทำได้นั้น ยังเป็นเรื่องที่น่าวิตกสำหรับสังคมไทยเพราะมหาวิทยาลัยก็จะหาเหตุผลขึ้นมาได้เสมอ เพราะการที่มีการสอบตรงในปัจจุบันก็เป็นอ้างเหตุผลพิเศษทั้งหลายที่ไปสรรหากันมาอ้างนั่นแหละ"

 
UploadImage
 

ความคิดเห็น อ.ก้อง ศักดา ดีคำป้อ
" จากเท่าที่ฟังมา การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ มองว่ามันดีกว่าเเดิมนะ ในส่วนของ  clearing house 2 รอบ เพราะจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในเรื่องของการเดินทางไปสมัครสอบ เพราะเดิมผู้ปกครองจะเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสมัครสอบกันมากพอสมควร    และไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงวิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นแบบไหน  ถ้ายังมีการคัดเลือกด้วยการสอบหรือเอาคะแนนกันอยู่ โรงเรียนกวดวิชาก็ยังคงต้องมีอยู่

ส่วนประเด็นที่ว่าจะไม่เอาผลการเรียนมาเป็นเกณฑ์การคัดเลือกนั้น  มองว่าทางทปอ. คงจะนำเรื่องนี้ไปพิจารณากันอีกครั้ง  หลังจากที่ได้รับฟังความเห็นจากนักวิชาการหลายท่าน  และที่ประชุมปรึกษากันเมื่อวานนั้นก็ยังเป็นการหารือเพื่อถามคิดเห็นกันอยู่  คงต้องรอติดตามกันต่อไป" 

 
 
UploadImage
 


ความคิดเห็นพี่โดม P-dome.com
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าข่าวที่ออกมานั้นมาจากส่วนที่ทำงานด้านนโยบาย ในส่วนการปฏิบัติแล้วไม่ได้มีหน่วยงานเดียว จึงเป็นไปได้ยากที่จะสามารถนำระบบใหม่นี้มาใช้ได้ เพราะแค่เปิดเทอมยังไม่พร้อมกันเลย และอย่าลืมว่าเรายังมีระบบโควตาของแต่ละมหาวิทยาลัย ที่มีจุดประสงค์รับเด็กในพื้นที่ของเขา ซึ้งจะถูกทลายลง หรือต่อให้มีระบบนี้ออกมาแต่ยังมีการเปิดช่องให้มหาวิทยาลัยรับโควตาเหมือนเดิม มันก็ไม่ได้ต่างจากเดิมเลย เพราะมันเท่ากับว่าจากเดิมที่เรามีการแอดมิชชันแค่ครั้งเดียว ระบบนี้จะมีเคลียริ่งเฮาส์ 2 ครั้ง มันเหมือนมีแอดมิชชัน 2 รอบ โดยส่วนตัวแล้วที่อยู่ในการแถลงข่าวจริงๆ ข่าวนี้ไม่ได้แรงเท่ากับที่สำนักข่าวมีการนำเสนอกัน เป็นเพียงการวางกรอบไว้จากส่วนนโยบาย แล้วให้ ทปอ. ไปศึกษาว่าจะสามารถทำตามกรอบนี้ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวานเราขอเรียกมันว่าเป็นแนวคิดของฝั่งนโยบาย ให้ฝั่งปฏิบัติไปดูว่าสามารถทำตามได้มากน้อยแค่ไหน
 
แล้วระบบที่เขาคิดขึ้นมานี้มันดีหรือไม่ อันที่หนึ่งใช่มันสามารถแก่การวิ่งรอกสอบได้ แต่เรามองว่าถ้านิติฯ ธรรมศาสตร์เขาอยากได้นักเรียนที่มีความสามารถทางด้านกฎหมายจะทำอย่างไร? และข้อเสียคือการจัดสอบทุกอย่างใน 2 เดือน มันกลายเป็นว่าเด็กทุกคนจะต้องมามุ่งหน้าให้ความสำคัญกับการสอบ เพราะมันเป็นการสอบ 2 ครั้งที่ตัดสินชีวิตเขาเลย แล้วการเรียนพิเศษในอนาคตจะหนักขึ้นกว่าเดิมอีก มันจะกลายเป็นว่าเรากลับไปจุดเดิมที่เป็นการสอบเอ็นทรานซ์ แต่เพียงดีกว่านิดหน่อยที่รู้คะแนนก่อนเท่านั้นเอง อีกทั้งมหาวิทยาลัยภูมิภาคเองก็จะไม่สามารถแข่งขัน หรือไม่สามารถดึงดุเด็กได้เท่าที่ควร มันจึงไม่เป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวเด็กเอง
และต่อมหาวิทยาลัยด้วย
 
สิ่งเดียวที่เห็นด้วยคือการขยายเวลาการสอบออกไปให้เด็กจบ ม.6 ก่อน เราเห็นว่าเด็กจะสามารถแยกการสอบกับการเรียนออกจากกันได้ แต่สิ่งที่ไม่เห็นด้วยคือ การมีเคลียริ่งเฮาส์ 2 รอบ แล้วไม่ต้องมีแอดมิชชัน ซึ่งสุดท้ายแล้วสิ่งที่สร้างขึ้นมาใหม่นี้มันก็คือแอดมิชชันดีๆ นี่เอง และเป็นการตัดสิทธิ์เด็กในการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยผ่านโครงการรับตรงต่างๆ
 
ถ้าจะแก้ปัญหาการวิ่งรอกสอบจริงๆ ไปจำกัดการสอบรับตรงของมหาวิทยาลัยต่างๆ ดีกว่า ไม่ใช่การเอาสิทธิ์ในการรับตรงไปทั้งหมด เพราะอย่าลืมว่าบางโครงการรับตรงไม่มีการสอบ ควรไปควบคุมว่าถ้ามหาวิทยาลัยไหนจะรับตรง ต้องใช้ข้อสอบกลางเท่านั้น และไม่ให้เก็บค่าสมัครเด็กแพง แล้วให้มหาวิทยาลัยตั้งสินใจเองว่าจะใช้คะแนนจากอะไรเป็นองค์ประกอบบ้าง มันถึงจะยุติธรรม ไม่เป็นการจำกัดโอกาสเด็ก แต่สุดท้ายแล้วต้องคงระบบแอดมิชชันกลางเอาไว้ เพราะลองคิดดูว่าขนาดตอนนี้เรามีสองทางเลือกการแข่งขันยังสูงขนาดนี้ ถ้าเหลือทางเลือกเพียงอย่างเดียวการแข่งขันจะสูงขนาดไหน? 



อ่านข่าว "ศธ.จ่อเลิกแอดมินชันปี61 ‘สอบรอบเดียว-ใช้ข้อสอบเดียวกัน’ เด็กรู้คะแนนก่อนเลือก4อันดับ"