สอบเข้ามหาวิทยาลัย

สาขาการจัดการความปลอดภัยการบิน ตลาดงานเปิดกว้างรับไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคอาเซียน

UploadImage

ประเทศไทยนับได้ว่าเป็น “ฮับ” หรือศูนย์กลางการบินในภูมิภาคอาเซียน ด้วยความโดดเด่นทางสภาพ และที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ประกอบกับไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวของโลก จึงเป็นที่แน่นอนว่า วินาทีนี้เมืองไทยฮอตด้านการบินไม่น้อยหน้าใคร ในขณะที่การเติบโตด้านการท่องเที่ยวและการเดินทางของโลกเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ธุรกิจการบินก็มีการแข่งขันสูงมากตามไปด้วยเช่นกัน จนทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมาดังเช่นข่าวการขาดแคลนนักบินของสายการบินนกแอร์ จนเกิดการประท้วง เกิดการยกเลิกไฟลท์ในหลายเที่ยวบิน กระทบต่อการเดินทางของผู้คน


ไทยถูกเตือนจากไอซีเอโอเริ่มวิบากกรรมการบิน

               รวมไปถึงข่าวใหญ่ในรอบปี 2558 นั่นคือประเทศไทยถูกแจ้งเตือนจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือไอซีเอโอ (ICAO) ซึ่งเป็นองค์กรที่กำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยของระบบการบินในประเทศต่างๆ ซึ่งไอซีเอโอตรวจสอบแล้วพบว่าไทยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยของของไอซีเอโอหลายเรื่อง


มรสุม...... ด้านการบินของประเทศเกิดขึ้นแล้ว  ความแจ่มใส....ที่หลายคนคาดหวัง กำลังถูกบดบัง 

               สิ่งที่ไอซีเอโอพบว่าไทยไม่ได้มาตรฐานคือ ทั้งเรื่องมาตรฐานของบุคลากรในกรมการบินพลเรือนซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลความปลอดภัยและตรวจสายการบินโดยตรง การให้ใบอนุญาตที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และมาตรฐานของสายการบินแบบเช่าเหมาลำ จึงส่งผลให้ไทยถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลงมาที่ระดับบี และมีคำสั่งให้เสนอแผนแก้ไขปัญหาให้ได้ภายใน 90 วัน

               ช่วงนั้นเกิดความวิตกกังวลอย่างมากจากทุกฝ่าย เพราะหวั่นว่าบางประเทศเช่นสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่น จะพิจารณาไม่อนุญาตให้เที่ยวบินจากไทยเข้าประเทศได้ เนื่องจากมีการกำหนดระดับความน่าเชื่อถือไว้ที่ระดับเอ ดังเป็นข่าวว่าประเทศญี่ปุ่นได้ไม่อนุญาตให้เที่ยวบินบางเที่ยวเข้าประเทศจนเป็นปัญหากับทัวร์ในไทยในช่วงนั้นมากมาย

               ต่อมาในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทางไอซีเอโอก็มีคำสั่งติดธงแดงให้ประเทศไทยอย่างเป็นทางการ หลังจากแผนการแก้ไขปัญหาที่ทางไทยส่งให้ไอซีเอโอนั้นไม่ผ่านการอนุมัติ และแสดงให้เห็นถึงความบกพร่องในมาตรฐานการบินของไทยต่อสายตาของชาวโลกอย่างชัดเจน และประเทศที่ถูกติดธงแดงนั้นมีทั้งอุรุกวัย, แองโกล่า, บอสวานา, จิบูตี, เอริเทรีย, จอร์เจีย, ไฮติ, คาซัคสถาน, เลบานอน, มาลาวี, เนปาล, และเซียร่าลีโอน ซึ่งไทยเป็นชาติเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ถูกไอซีเอโอติดธงแดง

               แม้การแก้ปัญหาเรื่องนี้จะผ่านพ้นไป แต่เรื่องความปลอดภัยในด้านมาตรฐานการบินก็เป็นเรื่องละเลยไม่ได้เสียแล้ว


UploadImage

ม.ศรีปทุมขานรับตอบโจทย์ผุดสาขาความปลอดภัยการบิน

               ในวันที่ประเทศเราเจอปัญหา แต่....ม.ศรีปทุม...ตอบโจทย์ขึ้นมารองรับในทันที

               มหาวิทยาลัยศรีปทุม ซึ่งเป็นที่ยอมรับด้านวิชาการที่โดดเด่นและสามารถผลิตนักศึกษาป้อนตลาดแรงงานได้เป็นอย่างดี จึงให้ความสนใจในการเปิดสาขาวิชาใหม่ด้านการบินและคมนาคม ซึ่งนอกจากจะช่วยผลิตบุคลากรด้านนี้ที่กำลังขาดแคลนให้เพียงพอต่อความต้องการ ยังถือเป็นการร่วมแรงร่วมใจ”ช่วยชาติ” ร่วมเป็นส่วนหนึ่งแก้ไขปัญหาเรื่องความปลอดภัยด้านการบินด้วย และนำมาสู่การจัดตั้งวิทยาลัยการบินและคมนาคมขึ้นในวันนี้

               ภายใต้ผู้นำทัพอย่างคณบดีที่เชี่ยวชาญด้านนี้อย่างสูง นั่นคือ “พล.อ.อ. พิธพร กลิ่นเฟื่อง” คณบดีวิทยาลัยการบินและคมนาคม ด้วยตำแหน่งยศชั้นสูงสุดของกองทัพคือ “พลอากาศเอก” ทำให้มั่นใจได้เลยว่าท่านผ่านงานมาอย่างเต็มเปี่ยมและโชกโชน พร้อมกับมาดชายชาญทหารที่ไม่เป็นรองใคร

               “จากการที่ท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม ดร.รัชนีพร พุคยาภรณ์ พุกกะมาน มีวิสัยทัศน์ก้าวหน้าและมีแนวคิดเปิดวิทยาลัยใหม่ เพื่อเสริมสร้างด้านบุคลากรการบินของประเทศ ซึ่งปัจจุบันก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วมาก จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งวิทยาลัยนี้ขึ้น”


UploadImageย้อนปูมความต้องการแรงงานด้านการบิน

               พล.อ.อ.พิธพรฯ เล่าย้อนให้ฟังว่า หากจะนับย้อนไปเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว เมื่อไทยเปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ถือได้ว่าเป็นการเดินหน้าสู่การเปิดกว้างทางการบินอย่างจริงจัง เพราะเรามีสนามบินใหม่ที่ใหญ่โตขึ้นมาก ทำให้มีความต้องการในตลาดแรงงานทั้งด้านช่าง นักบิน บุคลากรการบินและภาคพื้นในด้านต่างๆ ตลอดจนด้านความปลอดภัย ซึ่งมีความสำคัญมาก เนื่องจากเครื่องบินไม่เหมือนกับรถหรือเรือ ที่จะสามารถจอดนิ่งๆอยู่บนถนนหรือในทะเลได้หากเกิดเหตุขัดข้อง 

               แต่ที่ผ่านมายังไม่มีสถาบันการศึกษาใดนึกถึงประเด็นนี้ จึงมีเพียงการเปิดสอนในมหาวิทยาลัยต่างๆในสาขาบริหารการบิน ธุรกิจการบินเท่านั้น ทางมหาวิทยาลัยศรีปทุมจึงได้เปิดสาขาวิชาการจัดการความปลอดภัยการบินขึ้น  โดยมีเป้าหมายหลักคือการผลิตบุคลากรด้าน  Aviation Safety Management

               หากแต่การใช้ชื่อว่า วิทยาลัยการบินและคมนาคม เนื่องจากในอนาคตจะสามารถขยายไปสู่ด้านอื่นๆเช่น การขนส่งทางรางด้วย ไม่เพียงเฉพาะการบินเท่านั้น เพราะปัจจุบันการขนส่งทางราง เช่น รถไฟฟ้า หรือรถไฟความเร็วสูง ก็ได้ขยายตัวมากเช่นกัน


จัดตั้งวิทยาลัยการบินและคมนาคม 

               “พล.อ.อ. พิธพร กลิ่นเฟื่อง” นั่งสนทนากับเราให้ฟังถึงหลักสูตรการเรียนการสอนว่า ม.ศรีปทุมได้จัดตั้งวิทยาลัยการบินและคมนาคม (College of Aviation & Transportation) ในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต  สาขาการจัดการความปลอดภัยการบิน ซึ่งเป็นสาขาที่มีความต้องการในตลาดสูงมาก 

               สาขาวิชานี้จะเรียนรู้เรื่องการจัดการความปลอดภัยด้านการบิน การเกิดอุบัติเหตุและการป้องกัน แผนงานความปลอดภัยการบิน กฏระเบียบและข้อบังคับด้านการบิน มาตรฐานการบินระหว่างประเทศ อุตุนิยมวิทยาการบิน ระบบการควบคุมการจราจรทางอากาศ หลักการบินเบื้องต้น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการบิน ระบบสารสนเทศสำหรับการจัดการทางการบิน

               ทั้งนี้เมื่อจบชั้นปี 3 สามารถที่จะเลือกเรียนเป็น นักบิน ทั้งนักบินส่วนบุคคล (Private Pilot License: PPL)  หรือ นักบินพาณิชย์ (Commercial Pilot Licence : CPL) ได้ โดยมีข้อกำหนดต้องผ่านการตรวจสุขภาพร่างกายและจิตวิทยาการบิน ไม่มีโรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาเกี่ยวกับการบิน และเสียค่าใช้จ่ายในการเรียนเป็นนักบินเพิ่ม


เปิดสอนรายวิชาสอดคล้องกับความต้องการ

            ส่วนรายวิชาที่เปิดสอน นับว่าสอดคล้องกับความต้องการของตลาดมาก และมีความหลากหลายเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่นในเรื่องของการสูญเสียการควบคุม การค้นหาช่วยชีวิตและการฝึกการยังชีพ ภาวะผู้นำด้านความปลอดภัย สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุและการป้องกัน มนุษย์ปัจจัยเพื่อการป้องกันอากาศยานอุบัติเหตุ ความปลอดภัยการบินและการรักษาความปลอดภัย ระบบการจัดการความปลอดภัย แผนงานความปลอดภัยการบิน การสอบสวนสืบสวนอากาศยานอุบัติการณ์อุบัติเหตุ การพัฒนาอุตสาหกรรมการเดินอากาศและมาตรฐานการบินระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของกฎระเบียบและข้อบังคับด้านการบิน อุตุนิยมวิทยาการบิน ระบบการควบคุมการจราจรทางอากาศ หลักการบินเบื้องต้น ระบบสารสนเทศสำหรับการจัดการทางการบิน จริยธรรมการบิน เคมีประยุกต์เพื่อการบิน ฟิสิกส์ประยุกต์เพื่อการบิน


โอกาสทางอาชีพสูงไม่มีตกงาน

               ส่วนโอกาสทางอาชีพ ก็มีสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นงานด้านนิรภัยการบินของกรมการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย งานด้านความปลอดภัยการบินของบริษัทวิทยุการบิน ตัวแทน รับ-ส่งสินค้าทางอากาศ งานด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศ งานด้านการบริหารระดับต้นของสายการบิน งานด้านบริหารระดับต้นท่าอากาศยาน งานด้านความปลอดภัยการบินในท่าอากาศยาน สายการบิน ภาคพื้นทั้งขององค์กรภาครัฐและเอกชน งานด้านการบิน

               เรามาดูกันว่าการเรียนในคณะนี้น่าสนใจอย่างไร สำหรับหลักสูตรด้านการจัดการความปลอดภัยการบิน เป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี โดยผู้เรียนจะได้รับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต ทั้งนี้ในชั้นปีที่ 1 จะเรียนวิชาพื้นฐานเช่นเคมี ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ เคมีประยุกต์การบิน ระบบเครื่องช่วยการเดินอากาศ เป็นต้น หลังจากนั้นในเทอม 2 จะเริ่มเข้มข้นขึ้นด้านความปลอดภัยการบิน พอเข้าสู่ชั้นปีที่ 2 จะเริ่มมีวิชาหลักของคณะมากขึ้น และเมื่อถึงชั้นปีที่ 3 เทอม 2 นักศึกษาจะต้องตัดสินใจว่าจะเลือกเรียนต่อทางด้านไหน

               รายวิชาในกลุ่มวิชาชีพเลือกที่เปิดเรียนในชั้นปีที่ 4 ที่มีให้เลือกเรียนได้แก่ (1) นักบินพาณิชย์ (2) การจัดการท่าอากาศยาน (3) การส่งกำลังบำรุงหรือโลจิสติกส์ทางอากาศ
 ซึ่งจะเป็น 3 กลุ่มวิชาชีพเลือกของสาขาวิชาที่เปิดสอน

UploadImage


สามารถเข้าสู่การเปิดนักบินได้ทันที

               หากนักศึกษาคนใดประสงค์ที่จะเป็นนักบินแล้ว นอกจากด้านวิชาการต่างๆ ต้องผ่านกระบวนการทดสอบอื่นๆด้วย เช่น การตรวจร่างกาย  ซึ่งจะมีการตรวจสุขภาพด้านต่างๆ ตามข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศหรือ ICAO ซึ่งนอกจากด้านสุขภาพแล้ว ก็จะมีมาตรฐานการประเมินด้านอื่นๆ ด้วย เช่น สภาพจิตใจ เพราะผู้ที่จะเป็นนักบินต้องมีสุขภาพจิตดี ไม่ก้าวร้าว เป็นต้น

               นอกจากนี้ก็มีสถาบันที่ตรวจสอบหลายแห่ง ซึ่งมหาวิทยาลัยศรีปทุมพร้อมจะร่วมมือและส่งนักศึกษาไปตรวจสอบต่อไป เช่น สถาบันการบินพลเรือน, เวชศาสตร์การบินของกองทัพอากาศ, การบินไทย ฯลฯ ซึ่งจะสามารถทำการทดสอบด้านต่างๆ ขณะที่อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากคือ ภาษาอังกฤษที่ต้องผ่านเกณฑ์การทดสอบต่างๆ เช่นกัน

               แต่เมื่อสามารถเข้าทำงานได้ ค่าตอบแทนก็เป็นเรื่องจูงใจมาก อาชีพนักบินเป็นอาชีพที่รายได้ดีมาก จนทำให้หลายคนอยากเข้าศึกษาด้านนี้ ขณะเดียวกันตลาดแรงงานด้านนี้ ยังมีความต้องการนักบินอีกปีละ 250 -300 คน แต่เมืองไทยยังผลิตได้เพียงปีละ 200 กว่าคนเท่านั้น

               ไม่ว่าจะจบด้านการเป็นนักบิน หรืออีก  2 สาขา ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุมเปิดสอน เมื่อจบแล้วจะมีตลาดรองรับในการเข้าทำงาน ทั้งสายการบินต่างๆ ท่าอากาศยาน และหน่วยงานต่างๆ แม้แต่หน่วยงานภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันมีการจัดตั้งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย กรมท่าอากาศยาน สำนักงานจัดการอากาศยานและเรืออุบัติเหตุ ที่ผ่านมาด้านความปลอดภัยการบินไม่มีผู้ใดเปิดสอน ทำให้การทำงานด้านนี้ที่ต้องใช้ทักษะสูง ก็จะรับผู้ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ แต่เมื่อมหาวิทยาลัยศรีปทุมเปิดแล้ว จะสามารถป้อนเข้าสู่ตลาดได้โดยตรง


โอกาสดีของนักศึกษาม.ศรีปทุมไม่มีคู่แข่ง

UploadImage

               “ผมมั่นใจมากว่านักศึกษาของเราที่จบจากมหาวิทยาลัยศรีปทุมที่แห่งนี้ไม่มีตกงานอย่างแน่นอน เพราะตลาดกว้างมาก สนามบินในประเทศก็มีหลายแห่ง และยังไม่มีที่ไหนเปิดสอนด้านการจัดการด้านความปลอดภัยการบินเลย มีงานรองรับแน่ครับ”

               ขณะนี้เราคงเห็นนักบินหญิงทำงานในหลายสายการบิน ซึ่งท่านคณบดีให้มุมมองว่า เป็นความเท่าเทียมกันในสังคม ผู้ชายหรือผู้หญิงก็ทำงานด้านนี้ได้ หากผ่านการตรวจสอบต่างๆ และอยากให้คนไทยเข้ามาทำงานเป็นนักบินมากขึ้น เพราะจากการที่ตลาดแรงงานไทยเรามีไม่เพียงพอ ทำให้ต้องรับนักบินจากต่างประเทศมาทำงานส่วนหนึ่ง

               ส่วนค่าใช้จ่ายในการศึกษา ตลอดหลักสูตร 4 ปี ก็ตกราว 3 แสนบาทเศษๆเท่านั้น ยกเว้นผู้ที่จะไปประกอบอาชีพนักบินก็จะมีค่าใช้จ่ายดังที่กล่าวไปแล้วเพิ่มขึ้นอีกราว 2 ล้านบาท


ธุรกิจการบินขยายตัวสูงหลังเปิดโลว์คอสท์แอร์ไลน์

               ระหว่างการสนทนา ท่านพล.อ.อ.พิธพรฯ ได้เล่าให้ฟังเป็นข้อมูลว่า ธุรกิจการบินของไทยจะมีโอกาสที่ดีมาก เรามีทำเลที่ตั้งที่ดี อยู่ใจกลางเอเชีย และด้วยขนาดพื้นที่ของประเทศ ทำให้เราได้เปรียบ หลายๆประเทศอาจมองว่าสิงคโปร์ หรือเวียดนาม เป็นฮับการบิน แต่ไทยเรานี่แหละเป็นฮับหรือศูนย์กลางอย่างแท้จริง และค่าใช้จ่ายก็ไม่แพง

               ขณะที่สนามบินสุวรรณภูมิยังจะขยายตัวต่อไปอีก เพราะปัจจุบันที่มีอยู่ 2 รันเวย์ก็เริ่มหนาแน่น และมีผู้โดยสารถึงขีดที่กำหนดคือประมาณ 55 ล้านคนต่อปี จึงจะมีการสร้างรันเวย์ที่ 3 และสร้างเทอร์มินัลใหม่เพิ่มขึ้น

               ขณะเดียวกันการเกิดขึ้นของสายการบินต้นทุนต่ำหรือโลว์คอสท์แอร์ไลน์ ก็ทำให้สร้างกระแสการเดินทางได้อย่างมหาศาล ใครๆ สามารถเดินทางได้ในค่าตั๋วเครื่องบินที่ถูกลงจึงเป็นที่นิยมมากขึ้น และจะทำให้มีการขยายตัวของธุรกิจนี้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

               ปัจจุบันประเทศไทยมีสายการบินที่เป็นของไทยแท้เพียง 4 สายคือ การบินไทย  บางกอกแอร์เวย์ส ไทยสมายล์ และนกแอร์ ที่เหลือเป็นการร่วมทุนของต่างชาติ โดยหากไม่นับสายการบินที่ร่วมทุน อาจกล่าวได้ว่า 4 สายการบินสัญชาติไทยเตรียมแผนขยายเส้นทางอีกมากมาย

               เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้บุคลากรด้านความปลอดภัยการบินก็สำคัญมากขึ้นตามไปด้วย ปัจจุบันอาชีพหลายอย่างในสนามบินและสายการบินต้องได้ใบอนุญาตจึงจะเข้าทำงานได้ แม้แต่เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดก็ตาม จึงเป็นโอกาสอย่างมากในตลาดแรงงาน

 

ฟังเช่นนี้แล้วอยากทำงานด้านความปลอดภัยทางการบินและเป็นนักบินกันหรือยัง
ไม่ใช่เรื่องยากเลย เพียงแต่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ โอกาสอยู่ไม่ไกล

ที่สำคัญม.ศรีปทุมตอบโจทย์ ได้อย่าง....ตรงใจมาก....
 


จาก ทอ.ปีกเหล็ก
บุคลากรที่ทรงคุณค่าในแวดวงการบินสู่นักวิชาการมืออาชีพ


มีโอกาสนั่งคุยกับ พล.อ.อ.พิธร กลิ่นเฟื่อง คณบดีวิทยาลัยการบินและคมนาคม มหาวิทยาลัยศรีปทุม แล้ว นับได้ว่าท่านไม่ธรรมดาเลยทีเดียว เพราะหลังจากจบการศึกษาจากเตรียมทหารรุ่น 10 และนักเรียนนายเรืออากาศรุ่น 17 ท่านก็ได้รับทุนไปฝึกเป็นศิษย์การบินที่สหรัฐอเมริกา จนได้รับปีกเหล็กของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ซึ่งคนไทยน้อยคนที่จะมีโอกาส

หลังจากนั้นก็ได้ทุนให้ไปฝึกบินหลักสูตรนักบินลองเครื่องต้นแบบ (Experimental test pilot) ในกระทรวงกลาโหมของประเทศอังกฤษ ที่ EMPIRE TEST PILOT SCHOOL หากคิดเป็นเงินไทยก็ตกราว 50 ล้านบาทเลยทีเดียว  ซึ่งหากใครที่จบจากที่นี่ถือได้ว่าเป็นบุคลากรสุดยอดทางการบินแล้วผ่านการบินในเครื่องบินพาณิชย์และเครื่องบินทหารมาแล้ว (ในประเทศไทยมีนักบินลองเครื่องต้นแบบดังกล่าวนี้เพียง 7 คนเท่านั้น)

เคยเป็นเจ้ากรมยุทธการทหารอากาศเป็นเวลา 2 ปี และไปอยู่ที่กองบัญชาการศึกษา ก่อนไปที่ฝ่ายเสนาธิการ จนกระทั่งตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณคือ ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพอากาศ

ความเชี่ยวชาญด้านการบินเคยอยู่ในฝูงบิน 102 ของกองบิน 1 โคราช มีชั่วโมงบินกว่า 3 พันชั่วโมง ผ่านการเป็นนักบินรบด้วยเครื่องแบบเอฟ 5 มาแล้ว นับเป็นหนึ่งในบุคลากรที่ทรงคุณค่าของกองทัพอากาศไทยและเกียรติประวัติด้านการบินของประเทศไทย

และในด้านวิชาการท่านก็ไม่เป็นรองใคร เพราะจบมาจากทั้งประเทศสหรัฐ และอังกฤษ เรียกได้ว่าเป็นครูที่น่าทึ่งแห่งวงการศึกษาด้านการบินของไทย 

UploadImage
 
เรื่องและภาพโดย : มหาวิทยาลัยศรีปทุม