น้อง ๆ กำลังเลือกคณะเรียนกันอยู่ใช่ไหม?คณะนู้นก็ดี สาขานี้ใช่ เลือกไม่ถูกเลยใช่ไหม #คณะดีพี่บอกต่อ วันนี้พี่จะพาน้อง ๆ มารู้จักกับหลักสูตรวิศวกรรมอัตโนมัติ ภาควิชาวิศวกรรมการวัดคุมและควบคุม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มาดูกันว่า พี่ ๆ วิศวกรรมอัตโนมัติ เขาคือใคร เรียนอะไร จบไปแล้วพี่เขาทำงานด้านไหนได้บ้าง
มาเริ่มกันเลย
วิศวกรรมอัตโนมัติคืออะไร
คือศาสตร์ที่ผสมผสานระหว่างงานเชิงวิศวกรรม กับการจัดการทางด้านสารสนเทศ ที่มุ่งเน้นให้ ระบบต่าง ๆ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกๆ ด้าน อาทิเช่น ต้นทุนการผลิต คุณภาพและ มาตรฐานของผลิตภัณฑ์ ความปลอดภัยในการทำงาน สภาวะของสิ่งแวดล้อม ความสามารถในการปรับอัตราการผลิต เพื่อตอบสนองต่อปริมาณความต้องการของตลาด และรวมไปถึงการบริหารและการจัดการในอุตสาหกรรม
วิศวกรอัตโนมัติคือใคร ?
วิศวกรอัตโนมัติ คือวิศวกรที่มีความรู้ความสามารถในการออกแบบ สร้าง พัฒนา และจัดการระบบต่าง ๆ เช่น ระบบโรงงานอัตโนมัติ (Factory Automation) กระบวนการผลิตอัตโนมัติ (Process Automation) ตลอดจนอาคารที่อยู่อาศัยอัจฉริยะ (Building and Home Automation) เพื่อให้ระบบต่าง ๆ เหล่านี้สามารถทำงานได้โดยตัวเองหรือพึ่งพาผู้ปฏิบัติงานน้อยที่สุด
วิศวกรรมอัตโนมัติเรียนเกี่ยวกับอะไร ?
วิศวกรรมอัตโนมัติเป็นการบูรณาการระหว่างพื้นฐานทางวิศวกรรมสาขาต่าง ๆ ร่วมกับเทคโนโลยี สารสนเทศ และการจัดการดังนั้น
วิศวกรรมอัตโนมัติ = พื้นฐานทางวิศวกรรมสาขาต่าง ๆ + เทคโนโลยีสารสนเทศและการจัดการ
Automation Engineering = Standard Engineering Fields + Management Information Technology
หมายเหตุ
พื้นฐานทางวิศวกรรมสาขาต่าง ๆ หมายถึง ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ การวัดและควบคุม อุตสาหการและ เครื่องกล
เทคโนโลยีสารสนเทศและการจัดการ หมายถึง เทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร ระบบเครือข่าย และการบริหารการจัดการสารสนเทศ
ผู้ที่จะเข้าศึกษาจะต้องมีพื้นฐานอะไรบ้าง ?
+ มีพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
+ เป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่น ชอบคิดวิเคราะห์ และแก้ไขปัญหา
+ มีมนุษย์สัมพันธ์ดี และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้
เรียนจบทำอาชีพไหนได้บ้าง ?
สามารถทำงานได้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในกลุ่มต่าง ๆ เช่นกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมการผลิต กลุ่ม บริษัทผู้ออกแบบ ติดตั้ง และจำหน่ายสินค้าทางด้านระบบอัตโนมัติ นอกจากกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแล้วยังมีงานที่เกี่ยวกับระบบอัตโนมัติอื่น ๆ
สายงานที่ที่สามารถออกไปประกอบอาชีพแบ่งได้เป็น 5 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
1.งานทางด้าน Process Automation
2.งานทางด้าน Factory Automation
3.งานทางด้าน Infrastructure Automation
4.งานทางด้าน System Integration และบริษัท Main Contractor
5. งานทางด้านบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องมือวัดและระบบอัตโนมัติ
นอกจากกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแล้วยังมีงานที่เกี่ยวกับระบบอัตโนมัติอื่น ๆ อีกเช่น อาคารที่อยู่อาศัยอัจฉริยะ (Building and Home Automation) จะใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมพลังงาน ระบบ รักษาความปลอดภัย ผ่านทางระบบสื่อสารข้อมูลต่าง ๆ ที่เรียกว่า B.I.A.S. (Building Information & Automation System) เป็นต้น
จบวิศวกรรมอัตโนมัติเรียนต่อด้านไหนได้บ้าง
วิศวกรรมอัตโนมัติสามารถจะศึกษาต่อในขั้นสูงที่เกี่ยวข้องกับวิธีคิดแก้ปัญหาเชิงนวัตกรรม (Innovation solution) หรือปัญหาทางเทคนิคในอุตสาหกรรม (Technical problem in contemporary industrial societies) ในระดับปริญญาโทและเอกทั้งในประเทศและต่างประเทศ หลักสูตรต่าง ๆ ที่เปิดรองรับเช่น
• วิศวกรรมอัตโนมัติ (Automation Engineering)
• วิศวกรรมกระบวนการผลิต (Manufacturing Engineering)
• การจัดการทางวิศวกรรม (Engineering Management)
• การจัดการทางอุตสาหกรรม (Industrial Management)
• เทคโนโลยีสารสนเทศและการจัดการ (Management Information Technology)
• โลจิสติกส์ (Logistics)
• การจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management)