เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณต้องเดินทางไปศึกษาต่อ ทำงาน หรือใช้ชีวิตในต่างประเทศ การเจอกับสิ่งแวดล้อม สภาพสังคม วัฒนธรรม ระเบียบปฏิบัติ ความคิดและทัศนคติของผู้คน ที่ดูแปลกแตกต่างกันกับประเทศไทยเป็นสิ่งเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน
และการที่เราต้องปรับตัวกันครั้งใหญ่กับความไม่คุ้นเคยนี้เอง คือสิ่งที่เรียกกันว่า
“Culture Shock” ซึ่งก็เป็นปราการด่านสำคัญที่ทุกคนต้องก้าวข้ามผ่านในช่วงแรกที่ไปอยู่ต่างประเทศให้ได้ เอาล่ะ มาดูกันว่าเรามีคำแนะนำและวิธีการอย่างไรบ้างที่ช่วยให้คุณก้าวผ่าน “Culture Shock” นี้ไปได้
1. หาข้อมูลและทำความรู้จักประเทศที่จะไป ช่วยได้มาก
การหาข้อมูลจากหนังสือ อินเตอร์เน็ต รวมถึงการคุยกับคนที่เคยไปที่นั่น พยายามศึกษาทำความเข้าใจว่าอะไรเป็นมารยาทและอะไรที่จะถูกมองว่าไร้มารยาท เพื่อเราจะได้ปฏิบัติตัวถูก ไม่ไปทำให้คนที่นั่นรู้สึกไม่ดีกับเรา ถ้าเป็นที่อเมริกา การนั่งนิ่งๆ ไม่พูดนานๆ คนอื่นจะคิดว่าเราไม่ให้ความสำคัญ หรือที่มาดากาสการ์ ถ้าเหยียบกระเป๋าใครเข้าจะโดนโมโหหนักเลย บางเรื่องที่เราคิดว่าดูเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อาจจะไม่เล็กน้อย สำหรับคนประเทศนั้นก็ได้นะ
2. คุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยที่จะไปเรียน
น้องๆ คนไหนที่กำลังวางแผนจะไปเรียนต่อ อย่าลืมเข้าไปพูดคุยสอบถามอาจารย์ที่ปรึกษา (advisor) ดูนะว่า เด็กต่างชาติที่ไปเรียนที่นั่นเค้ามีวิธีการปรับตัวในเรื่องไหนบ้าง แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อให้การเตรียมตัวและทุกอย่างง่ายขึ้น ถ้าเรารู้ปัญหาที่ต้องเจอก่อนแล้ว ก็จะสามารถเตรียมตัวรับมือกับมันได้อย่างถูกต้อง และการสอบถามผู้รู้และเป็นเจ้าของพื้นที่อย่างอาจารย์ ก็เป็นทางที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งเช่นกัน
3. จดทุกอย่างที่ทำให้เราประทับใจไว้
เวลาที่น้องๆ รู้สึกเหนื่อย เบื่อ เซ็ง หรือแย่ขึ้นมา จะได้เห็นว่าตอนแรกที่เรามา ยังเจอด้านดีๆ ของประเทศนี้อีกมาก เพื่อเราจะได้รู้สึกสนุกกับการผจญภัย หรือแม้แต่เผชิญปัญหาต่างๆ เพื่อให้การใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ตื่นเต้นท้าทาย ทุกประเทศมีข้อดีข้อเสีย และถ้าในช่วงที่น้องๆ อยู่ต่างประเทศ ได้ใช้ชีวิตแบบมีอิสระ ในรูปแบบที่ประเทศไทยให้ไม่ได้ น้องๆ ก็จะเห็นประสบการณ์ที่ต่างประเทศนี่สนุกขึ้นมากทีเดียว
4. คุยกับนักเรียนต่างชาติคนอื่น
การได้พูดคุยกับนักเรียนต่างชาติเหมือนเรานี่แหละช่วยได้มากจริงๆ
น้องๆ ลองสอบถามพูดคุยนักเรียนต่างชาติคนอื่นดูว่าเขารู้สึกยังไงกันบ้าง พร้อมกันนั้นก็เล่าความรู้สึกของเราให้เขาฟังด้วย พยายามแลกเปลี่ยนความคิด แบ่งปันความรู้สึกแก่กันและกัน คนที่ต้องเจอประสบการณ์ต่างถิ่นเหมือนกัน อาจจะมีคำแนะนำอะไรที่เป็นประโยชน์ที่เรายังไม่รู้ก็ได้
5. หาเพื่อนเป็นคนพื้นที่ให้เร็วที่สุด
การที่เราได้เป็นเพื่อนกับคนในพื้นที่หรือเจ้าถิ่นประเทศนั้นๆ จะช่วยให้เราเรียนรู้และทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วกว่า ยิ่งถ้าหากน้องๆ ได้ใช้เวลากับเพื่อนเจ้าถิ่นมากถึงขนาดเป็นเพื่อนซี้กันแล้ว เค้าจะเป็นคนที่ช่วยให้การใช้ชีวิตในต่างประเทศต่างวัฒนธรรมของเราราบรื่นและสนุกสนานสุดๆ แน่นอน
ถ้าทำตาม 5 เทคนิคนี้ได้ รับรองว่าไม่นาน น้องๆ จะกลายเป็นคนที่มี “Comfort Zone” ที่กว้างขึ้น ปรับตัวข้าม “Culture Shock” และมีชีวิตที่สนุกสนานในต่างประเทศได้แน่นอน