งาน Admission Genius’59 “ฉลาดเลือกด้วยข้อมูล” ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2559 ณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เป็นงานที่จะเตรียมความพร้อมให้กับน้องๆ ที่กำลังจะเข้าสู่สนามของการ Admission เพื่อให้สามารถแอดฯ ติดในคณะสาขาที่ต้องการได้ โดยไฮไลท์สำคัญๆ ในงาน ได้แก่
การกล่าวเปิดงานโดย ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ พูดถึงการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย การก้าวสู่การความสำเร็จ ท่านกล่าวว่า “ความรู้หาได้ทั่วไป แต่สิ่งที่คุณจะได้จากมหาวิทยาลัยคือคุณจะเรียนรู้อย่างไร” พร้อมมอบ 5 สิ่งสำคัญที่จะทำให้ก้าวสู่ความสำเร็จ ได้แก่ 1.จัดการกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นให้ได้ 2.เข้าใจบริบท 3.การเรียนรู้ตลอดชีวิต ความสามารถในการเรียนรู้ไม่ได้จบอยู่แค่ในมหาวิทยาลัย 4.ความสามารถในการสื่อสาร 5.มีความคล่องตัว
ต่อจากนั้นเป็น อ.ก้อง ศักดา ดีคำป้อ ที่มาพูดถึงจะนวนที่นั่งใน Admission ปีนี้ “ที่นั่งในแอดมิชชันมี 130,000 ที่นั่ง แต่คนติดมีแค่ 90,000 คน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ไม่มีที่นั่งเหลือ แต่อยู่ที่ว่าเราจะเลือกอย่างไร” พร้อมไขข้อสงใสเกี่ยวกับหลังเกณฑ์ในการวิเคราะห์แนวโน้มคะแนน Admission 59 เผยเคล็ดลับ 4 ปัจจัยการวิเคราะห์ ได้แก่ 1.คะแนนขั้นต่ำย้อนหลัง 2.คะแนนเฉลี่ย O-NET, GAT,PAT ของปีนั้นๆ 3.จำนวนรับและการแข่งขัน 4.Admission Simulator โปรแกรมจำลองการแอดมิชชัน ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่มีคนจำลองยื่นเยอะกว่าจำนวนรับความแม่นยำจะสูงมาก โดยโปรแกรม Admission Genius ของเราในปีที่แล้วมีความแม่นยำถึง 94.5% อ.ก้อง ยังกล่าวปิดท้ายอีกด้วยว่า “เรามีคะแนนเท่าไหร่ไม่สำคัญ อยู่ที่ว่าเราจัดอันดับเป็นไหม ถ้าเราเลือกเป็น เรามีโอกาสติด”
พี่โดม ภราดร เทพสุภา ผู้รู้ลึก รู้จริง เรื่องข่าวสอบตรง แอดมิชชั่นจาก p-dome.com ได้ให้ข้อควรระวังในการ Admission กับน้องๆ ในงานนี้ด้วย “พี่เตือนทุกปี และพลาดกันทุกปี จนไม่รู้แล้วว่าอดีตมีไว้เรียนรู้ หรือมีไว้ให้ซ้ำรอย” พี่โดมกล่าว ซึ่งเรื่องหลักๆ ที่พี่โดมได้เตือนน้องๆ ไว้ได้แก่
- เรื่องระเบียบการ น้องไม่ได้พลาดเพราะคะแนนสูงหรือต่ำ แต่น้องพลาดเพราะไม่ได้อ่านแค่ประโยคเดียว
- องค์ประกอบคะแนนต้องครบ
- แยกให้ออกเกณฑ์ขั้นต่ำ กับค่าน้ำหนัก
- GAT ต้องใช้จากครั้งเดียวกัน แยก GAT เชื่อมโยงกับภาษาอังกฤษออกจากกันไม่ได้
- เกณฑ์ขั้นต่ำไม่ผ่านแม้แต่วิชาเดียว ก็แอดฯ ไม่ติด
- เด็กซิ่วไม่ว่าจะปี 1, 2 หรือ 3 แอดฯ ได้เลย ติดแล้วค่อยลาออก ยกเว้นคณะเภสัชฯ ต้องลาออกก่อนคณะจะยื่นตัดสิทธิ์แอดฯ
- คุณสมบัติต้องครบตามกำหนด ทั้งสายการเรียน น้ำหนัก ส่วนสูง คุณสมบัติไม่ได้ทำให้น้องๆ แอดฯ ไม่ติด แต่น้องๆ จะไม่ผ่านสอบสัมภาษณ์ เพราะคุณสมบัติไม่ครบ
- อย่าดูคะแนนย้อนหลังแค่ปีเดียว
- สมัครก่อนไม่ได้แปลว่าจะติดก่อน ฉะนั้นตรวจสอบรายละเอียดให้ดี
- ถ้าน้องๆ มีใบสมัครหลายใบ เลือกจ่ายใบเดียวไม่มีปัญหา แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่น้องๆ จ่ายมากกว่า 1 ใบ สอท. จะถือว่าใบที่มีรหัสล่าสุดที่ได้รับการชำระเงินเป็นใบที่น้องยื่นสมัคร
- Admission ดำเนินการโดย สอท. ไม่ใช่ สทศ.
วิเคราะห์ อาชีพ และเทรนด์งานในอนาคต โดย อ.เก่ง ภูวนัย วรรณสอน ผู้พัฒนาเว็บไซต์ AdmissionPremium.com และผู้เขียนหนังสือ อนาคตกำหนดได้ เลือกคณะ เลือกอนาคต และ ผศ. ดร.ทัณฑกานต์ ดวงรัตน์ ผู้ช่วยอธิการบดีสายงานสื่อสารและพัฒนาแบรนด์ และดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ทั้งสองท่านได้ขึ้นมาร่วมพูดถึงเทรนด์ของงานที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต พร้อมเผยแนวทางเลือกคณะให้ตรงกับเทรนด์อาชีพ “การเลือกคณะเราไม่สามารถดูแค่ความชอบของตัวเองเป็นหลัก ต้องดูเทรนด์ในอนาคตด้วย” ผศ. ดร.ทัณฑกานต์ กล่าว
นอกจากนี้ทั้ง 2 ท่านยังได้พูดถึง 4 เทรนด์งานในอนาคต ซึ่งพร้อมจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสของโลกที่เปลี่ยนไป ฉะนั้นเทรนด์งานทั้ง 4 นี้จะไม่ใช้แค่มีผลในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตลาดงานในอาเซียน ในเอเชีย และในโลก โดยเฉพาะในอีก 4 ปีข้างหน้า ที่น้องๆ #dek59 จะจบการศึกษาออกมาพอดี “ 4 เทรนด์วันนี้ จะตรงกับอีก 4 ปีข้างหน้า” อ.เก่ง กล่าว
The 4-Year Future #เทรนด์งานเปลี่ยนอนาคต
Health : เทคโนโลยีสุขภาพ, เทคโนโลยีการแพทย์, สปาและเทคโนโลยีชีวภาพ
Industrial 4.0 : เครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ, หุ่นยนต์และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม
Digital : เทคโนโลยีด้านการเงิน, อุปกรณ์เชื่อมต่อออนไลน์โดยไม่ใช้คน, เทคโนโลยีการศึกษา, อี-มาร์เก็ตเพลส, อี-คอมเมิร์ซ
New Business : อุตสาหกรรมสร้างสรรค์, วัฒนธรรมและบริการที่มีมูลค่าสูง, เทคโนโลยีการออกแบบ, ธุรกิจไลฟ์สไตล์, เทคโนโลยีการท่องเที่ยว
ปิดงานด้วย อาจารย์ โก้ วีรพล สวรรค์พิทักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารการตลาด มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และนักธุรกิจผู้เปลี่ยมด้วยอารมณ์ขัน มาพร้อมคำอวยพรให้น้องๆ ในงานทุกคนสอบติดที่ๆ อยากเข้า “ผมเคยเป็นแบบนี้มาก่อน ตอนนั้นจะเป็นอารมณ์แบบว่าตื่นเต้น จุกเสียด แน่นเฟ้อ เรอตลอดเวลา คือรู้สึกว่าทำอะไรก็ไม่สุด ดูซง จุง-กี จะกรี๊ด ก็กรี๊ดไม่เต็มเสียง”
นอกจากนี้ อ.โก้ ยังได้เล่าถึงประสบการณ์ให้ฟังอีกด้วยว่า “ผมนั่งทานข้าวกับเจ้าของร้าน ฟูจิ คุณไดซากุ ทานาก้า เขาทำร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยประสบความสำเร็จ ก็เลยไปเปิดร้านอาหารไทยที่ญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จตูมตาม!! เลย คนญี่ปุ่นก็ชอบกินอาหารไทย ผมเคยคุยกับเจ้าของร้าน Subway คุยกับเจ้าของน้ำมันพืชตราองุ่น คนเหล่านี้ประสบความสำเร็จทางธุรกิจกันทั้งนั้น เพราะว่าทุกคนมีไอเดีย ทุกคนมีไฟในตา แลผมมาวันนี้ ผมเห็นทุกคนมีไฟในตา ไม่ใช่ไปกรี๊ซุน จุง-กีนะครับ มีไฟว่าฉันต้องเข้ามหาวิทยาลัย ก็อยากให้เข้าได้ทุกคนครับ”
อ.โก้ ยังได้กล่าวปิดท้ายไว้อีกด้วยว่า “ผมเป็นอาจารย์มา 13 ปี และทำธุรกิจด้วย ทำปั้มน้ำมัน ทำรีสอร์ท ทำไม้นำเข้าจากแคนนาดา พวกเราทุกคนก็ต้องเป็นแบบผมได้ แล้วคุณจะรู้สึกว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของคนเรา ไม่ใช่การเรียนต่อ ไม่ใช่การร่ำรวย แต่คุณต้องดูแล พ่อ แม่ คุณได้จริงๆ”