สอบเข้ามหาวิทยาลัย

ว.การอาชีพวังไกลกังวล โชว์ระบบพลังงานอัจฉริยะ-บัสไฟฟ้า จ่อให้ นร.หัวหินนั่งฟรี


            ว.การอาชีพวังไกลกังวล สร้างต้นแบบระบบผลิตไฟฟ้าอัจฉริยะ ติดแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาอาคารเรียน รถโดยสารพลังไฟฟ้า 2 คัน และ ระบบBEMs ควบคุมการใช้ไฟผ่านอินเทอร์เน็ต เผยลดค่าไฟฟ้าลงได้ปีละกว่า 5 แสน จ่อทำรถไฟฟ้าให้ นร.นั่งฟรีปี59...

             เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 59 ที่วิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายจาตุรันต์ วัฒนประทีป ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล และคณะเจ้าหน้าที่ร่วมกันต้อนรับคณะสื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน นำโดย นายสัมโพธิ เทียนทอง ผู้จัดการโครงการ “ใส่เกียร์ 5 เดินหน้าพลังงานไทย” ที่เดินทางมาศึกษาดูงาน โครงการต้นแบบสถานศึกษาระบบผลิตไฟฟ้าอัจฉริยะ วิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล

 
 

           ผอ.วิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล กล่าวว่า ทางวิทยาลัยฯ มีค่าใช้จ่ายด้านกระแสไฟฟ้าสูงมากเฉลี่ยปีละ 1.6 ล้านบาท พบว่าสาเหตุเกิดจากอาคารเรียนทั้งหมดของวิทยาลัยเป็นอาคารปิด ต้องติดตั้งเครื่องปรับอากาศจำนวนมาก จึงคิดหาทางนำแผงโซลาร์เซลล์มาปิดกั้นความร้อนจากแสงอาทิตย์ พร้อมผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ภายในวิทยาลัยไปในตัว แต่พบว่ามีค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงได้จัดทำโครงการต้นแบบสถานศึกษาระบบผลิตไฟฟ้าอัจฉริยะขึ้น เสนอไปยังกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อขอเงินทุนมาดำเนินโครงการ จนในปี พ.ศ. 2557 วิทยาลัยฯ ได้ผ่านการพิจารณาและได้รับเงินทุนมาดำเนินโครงการจำนวน 40 ล้านบาท โครงการดังกล่าวประกอบด้วย การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนอาคารเรียนของวิทยาลัยจำนวน 362 แผง สามารถผลิตกำลังไฟฟ้าได้ 100 กิโลวัตต์ สามารถจ่ายไฟฟ้าไปยังทุกอาคารเรียน พบว่าสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าลงได้ถึงปีละกว่า 5 แสนบาท
 

           นายจาตุรันต์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ได้สั่งผลิตรถโดยสารสาธารณะพลังไฟฟ้า 2 คัน ขนาด 20 และ 40 ที่นั่ง วิ่งรับส่งนักเรียนในเขตอำเภอหัวหินโดยไม่คิดค่าบริการ จะเปิดให้บริการได้ช่วงเปิดเทอมปีการศึกษา 2559 ที่จะถึงนี้ วิ่งรับ-ส่ง ทุกโรงเรียนตามเส้นทางถนนเพชรเกษม ระหว่างหมู่บ้านตะเกียบ ถึงหมู่บ้านบ่อฝ้าย โดยใช้กระแสไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตได้ชาร์จใส่แบตเตอรี่ของรถโดยสาร รวมทั้ง ยังติดตั้งระบบจัดการอาคารอัจฉริยะ ( BEMs ) เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมการผลิตกำลังไฟฟ้าของแผงโซลาร์เซลล์ และควบคุมการเปิด-ปิด และสอดส่องการจ่ายไฟฟ้าของแต่ละห้องในอาคารผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยสามารถมอนิเตอร์ผ่านโทรศัพท์มือถือได้แบบเรียลไทม์ และสุดท้ายยังได้นำกระแสไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ที่เหลือใช้มาเก็บไว้ใน แบตเตอรี่ เพื่อนำจ่ายให้กับโคมไฟฟ้าในอาคารและถนนในช่วงกลางคืน 
 

         ผอ.วิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล กล่าวระหว่างนำคณะดูงานขึ้นชมแผงโซลาร์เซลล์บนอาคาร 5 ของวิทยาลัยฯว่า ทีมพัฒนาได้ออกแบบให้แผงโซลาร์เซลล์ติดตั้งยกสูงจากพื้นดาดฟ้าและหลังคาเล็กน้อย เพื่อสร้างช่องว่างให้ลมวิ่งผ่าน พบว่าช่วยเพิ่มความเย็นให้กับอาคารได้มากขึ้น และในอนาคตเตรียมจัดทำโครงการปลูกผักไฮโดรใต้แผงโซลาร์เซลล์ เพื่อเพิ่มความเย็น คาดว่าจะช่วยลดค่ากระแสไฟฟ้าลงไปได้อีกพอสมควร  ที่ผ่านมามีทั้งภาครัฐ และเอกชนเข้ามาศึกษาดูงานกันจำนวนมาก บางแห่งได้นำโครงการของวิทยาลัยฯ ไปเป็นแม่แบบดำเนินการแล้ว รวมถึงเอกชนบางแห่งได้ขอร่วมกับวิทยาลัยฯ พัฒนารถโดยสารของหน่วยงานให้เป็นรถพลังไฟฟ้า แต่ทั้งนี้ระบบต่างๆ ของโครงการยังต้องพัฒนาแก้ไขปรับปรุงในอีกหลายส่วน ทั้งนี้จะต้องทำโครงการต่อเนื่องเพื่อของบประมาณจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ นำมาพัฒนาให้ระบบสมบูรณ์ในปีต่อๆ ไป
 

             จากนั้นคณะได้ร่วมกันทดลองนั่งรถโดยสารพลังไฟฟ้าขนาด 20 ที่นั่ง โดยวิ่งจากวิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล หัวหิน ไปยังโครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ต.สามพระยา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร พบว่าสามารถทำความเร็วได้สูงสุดประมาณ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยข้อมูลทางเทคนิค ระบุว่า รถสามารถวิ่งได้เป็นระยะทาง 60 กิโลเมตร ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง และทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่แนะนำให้วิ่งไม่เกิน 60 กม. ต่อ ชม. เนื่องจากหากใช้ความเร็วสูงระยะทางที่ทำได้ต่อการชาร์จจะลดลง


ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์