สอบเข้ามหาวิทยาลัย

ไทยเสนอตัวนำร่องเทียบคุณวุฒิอาเซียน

    ไทยเสนอตัวนำร่องเทียบคุณวุฒิอาเซียน “บิ๊กหนุ่ย”จวกคิดกรอบคุณวุฒิอืด สั่ง สอศ.คุย ทีดีอาร์ไอ กำหนดสาขา-เร่งทำคลอดกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ ด้าน"สมศักดิ์"เผยไทยเสนอตัวเป็นประเทศนำร่องเทียบคุณวุฒิอาเซียน

    พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงการขับเคลื่อนการทำงาน ซึ่งตนเห็นว่ามีความล่าช้าและไม่เดินหน้าตามนโยบายที่วางแนวทางไว้ จึงให้ออกแบบรูปแบบการทำงานใหม่ เพื่อขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ไปหารือกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ว่า มีสาขาวิชาใด และอาชีพอะไรบ้าง ที่ควรจะเร่งดำเนินการกรอบคุณวุฒิวิชาชีพให้เสร็จก่อน เพื่อจะได้ตอบโจทย์ผู้เรียนสายอาชีพและสร้างแรงจูงใจให้คนมาเรียนอาชีวศึกษามากขึ้น อีกทั้งยังต้องเร่งทำกรอบคุณวุฒิวิชาชีพให้ตรงกับมาตรฐานของอาเซียนด้วย ซึ่งจะทำให้การเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน 

    ผมมองว่าปัญหาอุปสรรคของการทำงานในด้านนี้ คือ เว้นระยะการประชุมค่อนข้างนาน แต่ก็ไม่อยากว่าใคร เพราะการทำงานด้านนี้ต้องเชื่อมโยงหลายหน่วยงาน โดยผมต้องไล่ดูข้อมูลตั้งแต่ต้นว่าความล่าช้าของการทำงานเกิดจากจุดไหน ซึ่งเรียกได้ว่าต้องปฎิรูปการทำงานใหม่ ทั้งนี้ การทำงานดังกล่าวมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ปัจจุบันคำสั่งการทำงานเป็นของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงอาจส่งผลให้การทำงานล่าช้า ซึ่งผมก็อาจจะดูความจำเป็นในบางเรื่องเพื่อเสนอให้นายกรัฐมนตรีออกคำสั่งในการทำงานเรื่องนี้ครอบคลุมทุกหน่วยงาน เพื่อให้เดินหน้ากรอบคุณวุฒิวิชาชีพให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม


    รมว.ศึกษาธิการ กล่าว ด้าน ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา โฆษกสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบกำหนดเวลาในการเริ่มต้นเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) กับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) ตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งพล.อ.ดาว์พงษ์ เห็นว่าในปี 2560หรือ อย่างช้าภายในปี 2561ประเทศไทยสามารถดำเนินการได้ และที่ประชุมยังเห็นชอบเสนอไทยเป็นประเทศนำร่องเพื่อเทียบเคียง NQF กับ AQRF ในช่วงเวลาดังกล่าวภายใต้กองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA ECWP) และจะได้เสนอต่อสำนักงานเลขาธิการอาเซียนให้การรับรองประเทศไทยต่อไป โฆษก สกศ. กล่าวด้วยว่า รมว.ศึกษาธิการมอบหมายให้ สกศ. ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเลือกสาขาอาชีพที่สำคัญเตรียมรองรับการเทียบเคียง AQRF ทั้งนี้ ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา ได้เสนอว่าจะหารือร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และทีดีอาร์ไอ เพื่อศึกษา วิเคราะห์ แนวทางการปรับโครงสร้าง NQF ของประเทศไทยให้เท่ากับ AQRF ที่มี 8 ระดับเพื่อสร้างมาตรฐานเดียวกัน จากเดิมประเทศไทยกำหนด NQF ไว้ 9 ระดับพร้อมคัดเลือกสาขาอาชีพที่รัฐบาลให้ความสำคัญ สาขาอาชีพตามกรอบการยอมรับร่วมกันในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งสาขาอาชีพตามแผนพัฒนากำลังคนรายอุตสาหกรรมมาเสนอต่อที่ประชุมพิจารณาอีกครั้ง

    นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้ สกศ. ทบทวนโครงสร้างของคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และศึกษากลไกการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ ทำหน้าที่เชื่อมโยงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติกับระบบคุณวุฒิอาชีพนำไปสู่การปรับหลักสูตรด้านอาชีวศึกษาอย่างสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงด้านคุณวุฒิอาชีพตรงกับตลาดแรงงาน รวมทั้งเป็นฐานในการกำหนดอัตราค่าจ้าง เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาและการพัฒนากำลังคนของประเทศต่อไป ดร.สมศักดิ์ กล่าว.


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : เดลินิวส์

คนอื่น ๆ อ่านเรื่องนี้ แล้วมักจะอ่านเรื่องต่อไปนี้ต่อ