สอบเข้ามหาวิทยาลัย

สรุปการประชุม ทปอ. ความคืบหน้า TCAS รอบที่ 3 และ Dek65 เตรียมตัวรับมือการสอบรูปแบบใหม่




เมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ม.ร.) นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมสามัญ ทปอ.ว่า ที่ประชุมได้หารือโครงสร้างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่องผลความคืบหน้าการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ในระบบ TCAS เรื่องแนวทางการปรับปรุงข้อสอบที่จะนำไปใช้ในระบบทีแคส และชี้แจงกรณี สพฐ.ส่ง GPAX ที่ ทปอ. จะใช้เป็นข้อมูลประกอบในการรับสมัคร TCAS ดังนี้
 

โครงสร้างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้อธิบายว่ากระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะเป็นกระทรวงแนวใหม่ที่กระชับ ไม่มีกรม กอง และเป็นกระทรวงที่จะยกระดับการพัฒนา สร้างคนของประเทศ จากประเด็นนี้ ทปอ.มีข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาลคือ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ต้องเน้นการสร้างคนยุคใหม่ ให้มีความพร้อมด้านวิทยาศาสตร์ และศิลปศาสตร์ อย่ามุ่งเน้นสร้างบุคลากรด้านใดด้านหนึ่ง วิทยาศาสตร์ และวิศวรกรรมศาสตร์ มีความจำเป็นต้องพัฒนาจริง แต่ด้านศิลปศาสตร์ และศาสตร์แขนงอื่นๆ ต้องพัฒนาไปพร้อมกันด้วย
 

ความคืบหน้า TCAS รอบที่ 3


นายสุชัชวีร์กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้รายงานผลการรับสมัครคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2562 หรือ TCAS รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน รับสมัครวันที่ 17-29 เมษายน จำนวน 94,504 ที่นั่ง และมีสาขาวิชาให้เลือก 4,013 สาขา ซึ่งขณะนี้มีนักเรียนลงทะเบียนในระบบ TCAS ทั้งหมด 296,799 คน ส่วนข้อมูลการสมัคร TCAS รอบที่ 3 ณ เวลา 05.00 น.ของวันที่ 21 เมษายน จำนวน 62,974 คน ยืนยันการสมัคร 39,524 คน และชำระเงิน 21,116 คน
 
นายสุชัชวีร์กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ส่งเกรดเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ GPAX 5 ภาคเรียน จำนวน 696,387 คน และส่งคะแนน GPAX ทั้ง 6 ภาคเรียน จำนวน 529,273 คน เรียบร้อยแล้ว เรียกได้ว่าขณะนี้เป็นวิกฤตของอุดมศึกษาไทย ที่มีนักเรียนน้อยกว่าจำนวนที่นั่งเรียน ความต้องการปริญญาลดน้อยลง การเรียนรู้ออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ต่อไปใครจะมาเรียนมหาวิทยาลัย ที่ประชุมจึงมีมติร่วมกันที่จะปฏิรูปการเรียนรู้ทุกด้าน ทั้งรูปแบบเป้าหมายการผลิตกำลังคนของอุดมศึกษา งานวิจัย งานวิชาการ งบประมาณ ต้องปรับตัวเพื่อรับวิกฤติในครั้งนี้
 
“ปัญหาที่พบในการสมัคร TCAS รอบที่ 3 คือนักเรียนลืมรหัสผ่าน และอีเมล์ที่ใช้งานเข้าระบบ วิธีการแก้ปัญหากรณีลืมรหัสผ่าน สามารถกดที่ตัวเลือก ‘ลืมรหัสผ่าน’ ส่วนกรณีลืมอีเมล์ นักเรียนจะต้องติดต่อ ทปอ. เอง กรณีค้นหาสาขาวิชาไม่พบตามประกาศของมหาวิทยาลัยนั้น ขอให้นักเรียนติดต่อมหาวิทยาลัยก่อน เนื่องจากประกาศต่างๆ ของมหาวิทยาลัยออกก่อนที่จะปรับข้อมูลในระบบ TCAS” นายสุชัชวีร์ กล่าว
 

แนวคิดในการปรับปรุงรูปแบบการสอบคัดเลือก

นายสุชัชวีร์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการปรับปรุงข้อสอบที่จะนำไปใช้ในระบบทีแคส เพื่อลดความซ้ำซ้อนของรายวิชา และค่าใช้จ่ายของการสอบวิชาต่างๆ สร้างช่องทางการรับนักเรียนเข้าใหม่ที่เน้นทักษะในอนาคต และรองรับการเข้าเรียนที่มีหลากหลายกลุ่มผู้เรียน ทั้งนักเรียนไทยจากโรงเรียนนานาชาติ และนักเรียนไทยจากต่างประเทศ ดังนั้น ต่อไปข้อสอบจะต้องมีทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ มีรูปแบบที่หลากหลายเหมาะกับนักเรียนที่มีความถนัดแตกต่างกัน สามารถสอบได้ในพื้นที่ที่ตนเองอยู่ เพื่อลดค่าใช้จ่ายการเดินทาง มีหลายช่วงเวลา แต่จะกำหนดจำนวนรอบการสอบของเด็กว่าสอบได้กี่รอบ ทั้งนี้ ทปอ.จะประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นภายใน 6 เดือน และจะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2565
 
ด้านนายชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาหรือทีแคส 2562 กล่าวว่า การปรับปรุงข้อสอบการคัดเลือกกลางเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษารูปแบบใหม่นั้น เนื่องจาก ทปอ.ต้องการลดปัญหาในปัจจุบัน คือ ลดความซับซ้อนของการสอบ ค่าใช้จ่ายในวิชาต่างๆ เพราะปัจจุบันนักเรียนมีค่าใช้จ่ายจากการสอบ เช่น การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) การทดสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และการทดสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) การสอบ 9 วิชาสามัญ เป็นต้น
 
“ทปอ.มีแนวคิดในการปรับปรุงรูปแบบการสอบคัดเลือก เช่น จะลดการสอบที่ขณะนี้เด็กต้องสอบหลายอย่าง และหลายครั้ง ให้เหลือการสอบเพียงครั้งเดียว นอกจากนี้ จะจัดทดสอบที่เน้นทักษะที่ต้องมีในอนาคต โดยอาจนำมารวมกับการสอบ GAT และ PAT ซึ่งจะเป็นลักษณะของการวัดทักษะการคิดสร้างสรรค์ ที่ปัจจุบัน มธ.ได้เริ่มนำร่องทดสอบทักษะในอนาคตเป็นปีแรก การวัดทักษะเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ความรับผิดชอบ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม จิตวิญญาณเพื่อประชาชน เป็นต้น จุดนี้บทเรียนที่ได้จะนำมาเครื่องมือในการทำงาน และมั่นใจว่าจะสามารถพัฒนาเป็นข้อสอบระดับชาติที่ใช้ในปีการศึกษา 2565 ตามที่ ทปอ.กำหนดได้” นายชาลี กล่าว
 

กรณี สพฐ.ส่ง GPAX ที่ ทปอ. จะใช้เป็นข้อมูลประกอบในการรับสมัคร TCAS

นายพีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้ช่วยเลขาธิการ ทปอ.กล่าวว่า กรณี สพฐ.ส่ง GPAX 5 ภาคเรียน จำนวน 696,387 คน เป็นข้อมูลที่ ทปอ.ขอใช้ประกอบในการรับสมัครทีแคส รอบที่ 1 และ 2 ส่วนคะแนน GPAX 6 ภาคเรียน จำนวน 529,273 คน ทปอ.จะใช้เป็นข้อมูลประกอบในการรับสมัครทีแคส รอบที่ 3 เป็นต้นไป ส่วนที่จำนวนต่างกันเกือบ 2 แสนราย เนื่องจากโรงเรียนยังไม่ได้ส่งข้อมูลให้ สพฐ.ให้ครบ ดังนั้น ทปอ.จึงแก้ไขโดยให้นักเรียนเข้ามาอัพเดทข้อมูลในระบบรับสมัครแทน
 
“ขอฝากถึงโรงเรียนบางแห่ง เกี่ยวกับการออกใบแสดงผลการเรียน หรือ ปพ.1 โดยขอให้โรงเรียนออกให้กับนักเรียนภายในวันที่ 26 เมษายนนี้ เพราะ ทปอ.จะปิดระบบไม่ให้นักเรียนแก้ไขข้อมูลในเวลา 24.00 น.วันที่ 26 เมษายน เนื่องจากมีบางโรงเรียนที่อาจจะออกใบ ปพ.1 ให้กับนักเรียนช้า ซึ่งจะทำให้นักเรียนไม่สามารถแก้ไขข้อมูลที่เป็นปัจจุบันในระบบได้ทัน” นายพีระพงศ์ กล่าว



ข่าวจาก 
www.niets.or.th
mgronline.com
www.matichon.co.th