สอบเข้ามหาวิทยาลัย

การประชุมสานพลังประชารัฐ ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ 2/2559

     UploadImage


  บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG - พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ ประชุมร่วมกับนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน พร้อมด้วยคณะกรรมการสานพลังประชารัฐด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ (Competitive Workforce) เมื่อวันพุธที่ 2 มีนาคม 2559 ณ ห้องประชุม 2001 ชั้น 20 อาคาร SCG 100 ปี โดยมีนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, นายอกนิษฐ์ คลังแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, นายวีระชัย ศรีขจร ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ตลอดจนผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

         รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการรายงานความก้าวหน้าของคณะทำงานทั้ง 3 กลุ่ม คือ คณะทำงาน Re-branding, คณะทำงาน Excellence Model School และคณะทำงาน Database of Demand and Supply ดังนี้

      1. คณะทำงาน Re-branding

          มีเป้าหมายหลัก คือ การสร้างแรงจูงใจ (Inspiration) ผ่านภาพลักษณ์ที่ดีกับกลุ่มเป้าหมาย โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียน พ่อแม่ และผู้ปกครอง ด้วยการสื่อสารให้กลุ่มเป้าหมายทราบถึงโอกาสความก้าวหน้าในสายวิชาชีพและผลตอบแทนที่ดีตามระดับทักษะความสามารถที่ได้รับการประเมินตามมาตรฐาน พร้อมทั้งการสร้างความภาคภูมิใจให้กับบุคลากรสายวิชาชีพอาชีวศึกษาว่าเป็นกำลังสำคัญของประเทศ

          อีกทั้งจะมีการต่อยอดโครงการ "ฝีมือชน คนสร้างชาติ" ของมูลนิธิเอสซีจี ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 รวมทั้งบูรณาการโครงการสร้างภาพลักษณ์ต่าง ๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านกิจกรรมหลากหลายช่องทาง เช่น การทำ Infographic, การให้รางวัล (Award), TV Campaign, สื่อออนไลน์, การประชาสัมพันธ์ ตลอดจนการทำวิจัยเปรียบเทียบข้อมูลก่อนและหลังการจัดทำโครงการ

          รมว.ศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมในแนวทางดำเนินงานด้านนี้ด้วยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ร่วมกันดำเนินการโครงการ "ชุมแพโมเดล" โดยการจัดแนะนำการเรียนรู้สู่อาชีพให้แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ด้วยการแนะแนวแบบเข้าถึงบ้านเด็ก เพื่อสร้างค่านิยมและความเข้าใจในการศึกษาต่อสายวิชาชีพ ทำให้สัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาเพิ่มมากขึ้น

2. คณะทำงาน Excellence Model School

         มีเป้าหมายหลัก คือ มุ่งเน้นการยกระดับอาชีวศึกษาทวิภาคีทั้งคุณภาพและปริมาณ ด้วยแนวทางที่หลากหลาย คือ การจัดกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาให้สอดคล้องตามนโยบายอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ พร้อมทั้งกำหนดรูปแบบที่เป็นมาตรฐานกลาง และอัตลักษณ์ของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม, เพิ่มจำนวนนักศึกษาในระบบทวิภาคี โดยการขยายความร่วมมือสู่สถานประกอบการอื่นที่เกี่ยวข้อง, สร้างการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารและประกอบอาชีพ, พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยภาคเอกชน, ขยายความร่วมมือสู่สถานศึกษาภาคเอกชน, ขยายขอบเขตการพัฒนาอาชีวศึกษาทวิภาคีสู่บริษัทเครือข่าย, สร้างมาตรฐานวิชาชีพให้เป็นที่ยอมรับและสอดคล้องกับการจ่ายค่าตอบแทน และพัฒนาสถานศึกษาเฉพาะทางเพื่อยกระดับคุณภาพความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านตามมาตรฐานสากล

         ทั้งนี้ เมื่อได้รูปแบบ (Model) แล้ว รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณในการขับเคลื่อนสถานศึกษาให้กลายเป็นสถานศึกษาที่มีความเป็นเลิศ โดยเน้นทักษะภาษาอังกฤษด้วย เพื่อให้เด็กอาชีวะมีความสามารถด้านภาษาไม่น้อยไปกว่าเด็กสายสามัญ อีกทั้งจะสนับสนุนในเรื่องของทรัพยากรบุคคลและวัสดุอุปกรณ์หรือสื่อการเรียนการสอน ที่จะพัฒนาให้สถานศึกษานั้นมีความเป็นเลิศในด้านต่าง ๆ ต่อไป

3. คณะทำงาน Database of Demand and Supply

         ขณะนี้การดำเนินงานอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลความต้องการกำลังคนในตลาดแรงงาน โดยได้รับความร่วมมือจากสภาอุตสาหกรรมฯ, สภาหอการค้า, กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงแรงงาน โดยกระทรวงศึกษาธิการจะรวบรวมจำนวนของนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษาที่จะสำเร็จการศึกษาในแต่ละปีทั่วประเทศ เพื่อนำมาจัดหมวดหมู่ภาควิชา เนื่องจากบางวิชาชีพสามารถรวมกันได้ โดยคาดว่าจะดำเนินการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวแล้วเสร็จภายในสองเดือนนี้

 
 
UploadImage
 

         นอกจากนี้ คณะทำงานฯ ยังได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวศึกษาจากต่างประเทศ คือ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐออสเตรีย ซึ่งจะมีการจัดการประชุมโต๊ะกลมประมาณกลางเดือนมิถุนายน 2559 เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาและยกระดับคุณภาพวิชาชีพของอาชีวศึกษา ถือเป็นการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ด้านอาชีวศึกษากับต่างประเทศ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอาชีวศึกษาของไทยต่อไป

        สำหรับข้อมูลด้านความต้องการกำลังคนในตลาดแรงงานนั้น รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า เมื่อได้จำนวนมาแล้ว จะมีการหารือร่วมกันอีกครั้ง เพื่อสรรหาบุคคลที่จะเข้ามาดูแลเรื่องนี้โดยตรง ซึ่งต้องพิจารณาว่าจำนวนนักเรียนนักศึกษาที่จบการศึกษาด้านอาชีวะกับความต้องการกำลังคนในสายวิชาชีพต่าง ๆ มีความสอดคล้องกันมากน้อยเพียงใด

        นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน กล่าวเพิ่มเติมถึงการประชุมในครั้งนี้ว่า เป็นการประชุมกลุ่มใหญ่อย่างเป็นทางการครั้งที่ 2 ส่วนคณะทำงานกลุ่มย่อยได้ประชุมมากว่า 10 ครั้งแล้ว ซึ่งมีคณะทำงานอยู่ 3 กลุ่ม ได้แก่ Re-branding (นำโดยเซ็นทรัล กรุ๊ป), Excellence Model School (มีกลุ่มฮอนด้า เป็นหัวหน้าทีม), Database of Demand and Supply (มีกลุ่ม IRPC เป็นแกนหลัก)

       โดยการทำงานของทั้ง 3 คณะทำงาน มีความคืบหน้าอย่างมาก อีกทั้งหน่วยงานของภาครัฐได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ทั้ง 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้ง สอศ. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการให้ความรู้และแบ่งปันข้อมูลว่าปัจจุบันภาครัฐกำลังดำเนินการสิ่งใดอยู่

 
 
                                                                                                UploadImage
 

       นอกจากนี้ ภาคเอกชนก็ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐ และได้หารือถึงความคืบหน้าและปัญหาในการดำเนินงาน ซึ่งการที่ภาคเอกชนและภาครัฐได้ร่วมกันดำเนินงานจะเป็นการสร้างพลังที่เข้มแข็ง และสามารถกระจายความสำเร็จไปยังส่วนต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

       นอกเหนือจาก 3 คณะทำงานดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ที่ประชุมได้เสนอให้จัดตั้งคณะทำงานใหม่ขึ้นมาอีก  1 ชุด คือ Standard and Certification Center โดยมีสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เป็นหัวหน้าคณะทำงานร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งมีกลุ่มมิตรผลเป็นแกนหลัก โดยคาดว่าการดำเนินงานร่วมกันจะเป็นไปด้วยดี เนื่องจากการดำเนินงานของทั้งสองฝ่ายจะครอบคลุมในทุกส่วน ซึ่งภาคเอกชนในทุกประเภทของอุตสาหกรรมได้เข้ามาร่วมมือกันพัฒนาคุณภาพระบบการศึกษา และระบบการปฏิบัติของภาคอาชีวศึกษาให้ดีขึ้น หากการอาชีวศึกษาดีขึ้นแล้วจะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น อีกทั้งความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็ดีขึ้นด้วย


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานรัฐมนตรี

คนอื่น ๆ อ่านเรื่องนี้ แล้วมักจะอ่านเรื่องต่อไปนี้ต่อ