สอบเข้ามหาวิทยาลัย

การบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวะภาครัฐและเอกชน

           
 
UploadImage
 

           วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี - พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายในการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและเอกชน เมื่อวันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 โดยมี ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ให้การต้อนรับ และมีผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและเอกชน ตลอดจนผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมจำนวน 1,200 คน

            รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีคำสั่งที่ 8/2559 ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 เรื่อง การบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและเอกชน เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการเกิดประสิทธิภาพ มีความเหมาะสม สอดคล้องกับนโยบายอย่างมีคุณภาพได้มาตรฐาน ตลอดจนมีความคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งเป็นผลให้มีการรวมสถานศึกษาของทั้งรัฐและเอกชนเข้าด้วยกัน

            จากข้อมูล ณ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2559 มีสถานศึกษาอาชีวศึกษาในระบบจำนวนทั้งสิ้น 886 แห่ง มีนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) รวม 976,615 คน โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จะต้องโอนงบประมาณให้กับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) รวม 4,339 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินอุดหนุนสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน 4,324.5 ล้านบาท และงบประมาณบริหารตามภารกิจยุทธศาสตร์ส่วนกลาง 14.5 ล้านบาท พร้อมจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการอาชีวศึกษาเอกชน เป็นหน่วยงานภายในของ สอศ. เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริม พัฒนา กำกับ และดูแลโรงเรียนเอกชนประเภทอาชีวศึกษา โดยรับโอนภาระงานและบุคลากรของกลุ่มงานโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนเดิม จำนวน 27 คน มาปฏิบัติงานประจำศูนย์

             การประชุมครั้งนี้ จึงได้จัดขึ้นเพื่อชี้แจงเพื่อให้ผู้บริหารสถานศึกษาของภาครัฐและภาคเอกชนทั้งหมดได้เข้าใจถึงกระบวนการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการได้มาพบปะและมอบนโยบายในการดำเนินงาน โดยขอให้ สอศ. ดูแลและนำพาอาชีวะเอกชนให้สามารถอยู่รอดและมีความเข้มแข็งมากขึ้น ในขณะเดียวกันการอยู่รอดก็ต้องขึ้นอยู่กับภาคเอกชนเองด้วย เพราะเป็นการลงทุนเอง และมีสถานะทุกอย่างเป็นเอกชนเช่นเดิม เพียงแต่ภาครัฐจะช่วยดูแลให้การสนับสนุนส่งเสริมในเรื่ององค์ความรู้เพื่อพัฒนาให้มีคุณภาพมาตรฐาน รวมทั้งเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติมให้ด้วย จึงขอให้ทั้งสองฝ่ายศึกษาวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งอย่างละเอียด พร้อมสรุปผลมานำเสนอเพื่อวางแผนส่งเสริมพัฒนาในแต่ละด้าน เช่น การแก้ไขปัญหาขาดแคลนครู การปรับภาพลักษณ์ การพัฒนาอาชีวศึกษาสู่ความเป็นเลิศเฉพาะด้าน เป็นต้น

            ส่วนข้อคำถามเกี่ยวกับความกังวลต่างๆ นั้น โดยส่วนตัวไม่มีความกังวลใดๆ เพราะเชื่อว่าการรวมอาชีวะภาครัฐและอาชีวะภาคเอกชนจะช่วยให้การทำงานดีขึ้นไม่มากก็น้อย และจากการรับฟังครั้งนี้ยังพบถึงข้อกังวลของทางอาชีวะเอกชน ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ ซึ่งแน่นอนว่าได้รับน้อยกว่ารัฐ ส่วนแรงจูงใจในการเข้าเรียนของนักเรียนก็มีน้อยกว่า รวมทั้งเรื่องของการรับนักเรียนที่ได้ขอความร่วมมือสถานศึกษาอาชีวะภาครัฐว่าไม่ควรรับนักเรียนหลายรอบ

           นอกจากนี้ ขอให้ทั้งสองฝ่ายสร้างความเป็นเลิศของสถานศึกษาให้มีความแตกต่างกันในพื้นที่เดียวกัน เพื่อสร้างจุดดึงดูดในการเข้าเรียน ไม่แย่งนักเรียนกัน และเป็นการช่วยพัฒนาตามศักยภาพและบริบทแต่ละพื้นที่ ส่วนข้อกังวลหรือความต้องการอื่นๆ ได้ขอให้รวบรวมส่งให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาต่อไป


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี84/2559