สอบเข้ามหาวิทยาลัย

“ดาว์พงษ์” ลงนามแล้วประกาศใช้โอเน็ต 30% มีผลจบช่วงชั้นม.ต้น-ม.ปลาย เริ่มปีการศึกษา2559

       UploadImage


           นายบุญรักษ์ ยอดเพชร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ลงนามในประกาศ ศธ.เรื่องสัดส่วนการใช้ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนของผู้เรียนที่จบการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 เพื่อให้การใช้ผลการทดสอบโอเน็ตเป็นไปอย่างเหมาะสมกับการจัดการเรียนการสอน และการกำหนดวิชาในการทดสอบโอเน็ต จาก 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เหลือ 5 กลุ่มสาระฯ และให้ยกเลิกประกาศ ศธ.เรื่องการปรับสัดส่วนการใช้ผลการทดสอบโอเน็ตฯ ฉบับวันที่ 4 ธันวาคม 2556 และให้ใช้ประกาศฉบับนี้แทน โดยให้สถานศึกษาที่จัดการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมต้น และมัธยมปลาย ให้ใช้ผลการเรียนของผู้เรียนที่ประเมินโดยสถานศึกษา และผลการทดสอบโอเน็ต ในสัดส่วน 70 : 30 ตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 เป็นต้นไป โดยประกาศเมื่อวันที่ 29 มกราคมนั้น เนื่องมาจากประกาศ ศธ.เรื่องการปรับสัดส่วนการใช้โอเน็ตที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ในขณะนั้นลงนาม กำหนดให้ปีการศึกษา 2558 เป็นต้นไป ให้ใช้ผลการเรียนของผู้เรียนที่ประเมินโดยสถานศึกษา และผลการทดสอบโอเน็ต ในสัดส่วน 50 : 50 แต่เมื่อนักวิชาการวิเคราะห์แล้วเห็นว่าการใช้สัดส่วนดังกล่าวเป็นการให้น้ำหนักที่มากเกินไป จึงเสนอไปยัง พล.อ.ดาว์พงษ์ ก่อนจะพิจารณาเห็นชอบให้คงสัดส่วน 70 : 30 ต่อไป
          “เมื่อปีการศึกษา 2556 สพฐ.ใช้สัดส่วนโอเน็ตในการรับนักเรียน 20% และในปีการศึกษา 2557-2558 ใช้โอเน็ตในสัดส่วน 30% และในปีการศึกษา 2559 นี้ กำหนดให้ใช้โอเน็ต 30% เท่าเดิม ทั้งนี้ แม้ว่าการทดสอบโอเน็ตจะเป็นการทดสอบระดับชาติ มีการออกข้อสอบตามเนื้อหาของตัวชี้วัดที่สำคัญทั้งหมด แต่ผลการทดสอบโดยระบบดังกล่าวก็ยังไม่สามารถวัดผู้เรียนได้อย่างครอบคลุม ต่างจากผลการเรียนที่ประเมินโดยสถานศึกษา ซึ่งจะประเมินผู้เรียนทั้งด้านความรู้ คุณลักษณะที่พึงประสงค์ และทักษะตามกระบวนการเรียนการสอน ดังนั้น การกำหนดสัดส่วน 50 : 50 ในขณะนี้จึงไม่เหมาะสม”นายบุญรักษ์กล่าว
         รายงานข่าวแจ้งว่าการประกาศศธ.เพิ่มสัดส่วนการใช้ผลคะแนนโอเน็ตดังกล่าวจะนำมาคิดรวมกับผลการเรียนในแต่ละวิชาที่ประเมินโดยโรงเรียนและคิดคำนวณออกมาเป็นผลการเรียนเฉลี่ยสะสมของนักเรียนในระดับชั้นที่กำหนดให้ใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าว

ที่มา : http://www.matichon.co.th/news/29417