สอบเข้ามหาวิทยาลัย

ลาดกระบัง ก้าวสู่ผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมเปิด 3 วิทยาลัยน้องใหม่ และ 1 โครงการจัดตั้งในอนาคต


เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้มีการเปิดเผยแบบ Exclusive Talk กับทาง Admission Premium โดยมีการเร่งปรับโครงสร้างหลักสูตรโดยมุ่งเน้นการเรียนการสอน ให้ตอบโจทย์การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาประเทศ โดยอาศัย “การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม” เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ สจล. ในฐานะสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำของประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายในการเป็นผู้นำสถาบันอุดมศึกษาในด้านดังกล่าว อันดับ 1 ของอาเซียน ภายในปี 2563 นั้น ได้เร่งดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ 3 ข้อ เพื่อก้าวสู่การเป็นหนึ่ง คือ

 

1. สร้างความร่วมมือ

กับมหาวิทยาลัยหรือสถาบันชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งในและต่างประเทศ โดยล่าสุดเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้ลงนามความร่วมมือกับ “มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน” มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ระดับโลก ในการจัดตั้งหน่วยงานความร่วมมือระหว่างสองสถาบัน การเปิดหลักสูตรร่วมกัน การจัดทำโครงการวิจัยร่วม และการแลกเปลี่ยนอาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา
 

2. พัฒนาและเพิ่มหลักสูตร

เพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ โดยในปีที่ผ่านมา สจล. ได้จัดตั้งวิทยาลัยน้องใหม่ เพื่อขยายองค์ความรู้ให้รอบด้านถึง 3 วิทยาลัย และเร่งเดินหน้าจัดตั้งวิทยาลัยเพิ่มอีก 1 วิทยาลัย ได้แก่
 

วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติ 

ซึ่งจะเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2561 โดยล่าสุดเมื่อวันที่15 ส.ค. ที่ผ่านมา สจล. ได้ลงนามความร่วมมือกับ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการร่วมพัฒนาหลักสูตรและถ่ายทอดองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญ ในการผลิตแพทย์ให้ได้ตามมาตรฐานสากล
 

วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ

โดยเปิดสอนทั้งหลักสูตรระยะสั้นจนถึงหลักสูตรบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต เพื่อส่งเสริมการผลิตบุคลากรด้านอุตสาหกรรมการบินของไทย พร้อมผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมซึ่งจะพัฒนาประเทศไทย ไปสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิต การซ่อม และบำรุงอากาศยานแห่งภูมิภาคอาเซียน
 

วิทยาลัยวิจัยนวัตกรรมทางการศึกษา

โดยมี “โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า” (KMIDS) อยู่ภายการบริหารจัดการ ซึ่งล่าสุดได้เปิดสอนภาคการศึกษาแรกไปแล้ว เมื่อต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา โดยใช้หลักสูตรสะตีม (STEAM) ซึ่งเป็นระบบบูรณาการการเรียนที่เน้นการเข้าถึง 5 ศาสตร์ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปวิทยาการ และคณิตศาสตร์ ซึ่งระบบดังกล่าวช่วยให้ผู้เรียนมีทักษะและความสามารถเฉพาะตัวในด้านการทดลอง การทำงานร่วมกัน การใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตผลงาน 
 

โครงการจัดตั้งวิทยาลัยวิศวกรรมอวกาศและระบบโลก

โดยคาดว่าจะสามารถเปิดรับสมัครนักศึกษาระดับปริญญาตรี รุ่นแรกในปีการศึกษา 2561 แบ่งออกเป็น 2 หลักสูตร คือ 1. Earth Systems & Environmental Engineering และ 2. Space Engineering สำหรับการแก้ปัญหาการความไม่แม่นยำการพยากรณ์อากาศ การบริหารจัดการน้ำ และป้องกันภัยธรรมชาติภาพรวมของประเทศ เพราะหากประเทศไทยยังไม่พัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยี ให้เท่าทันสภาพอากาศแบบสุดโต่ง ผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติอาจสร้างความเสียหายต่อประเทศอย่างรุนแรงในอนาคต

3. การบริการวิชาการ

เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนและภาคอุตสาหกรรม โดยเน้นงานวิจัย 4 ประเภท ได้แก่ ด้านอาหาร การเกษตร พลังงาน และโลจิสติกส์

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า นอกจากการพัฒนา สจล. ให้เป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ. ยังมุ่งหวังให้สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ภาครัฐ และภาคเอกชน เร่งปรับเปลี่ยนให้เท่าทันกับโลกยุคใหม่และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป 


นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :
ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
หมายเลขโทรศัพท์  02-329-8111 หรือทาง http://www.kmitl.ac.th