สอบเข้ามหาวิทยาลัย

Cambridge เสนอแนวทางปฏิรูปการศึกษาไทย

             
 
UploadImage
 

              เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายไมเคิล เดวิด เชลบีย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และหม่อมหลวงปริยดา ดิศกุล ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมการประชุมการรายงานผลการประเมิน "โครงการประเมินกรอบหลักสูตร Cambridge International Examinations : CIE"  ณ ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมีผู้แทนจากองค์กรหลัก หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เข้าร่วมกว่า 50 คน อาทิ คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รศ.ดร.บัญชา ชลาภิรมย์ คณบดีคณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน)

              รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการแถลงผลการศึกษา “โครงการประเมินกรอบหลักสูตร Cambridge International Examinations : CIE” ซึ่งสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในรูปแบบของคณะทำงานศึกษาวิเคราะห์ภาพรวมการปฏิรูปการศึกษาและการสอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของไทย ในประเด็นหลักสูตร การเรียนการสอน การประเมินในโรงเรียน การออกข้อสอบ O-NET และอื่นๆ ซึ่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้ส่งทีมมาที่ประเทศไทย เพื่อศึกษาในเรื่องนี้เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีผลการศึกษาและข้อคิดเห็นที่สำคัญ 2 ประการ คือ
1. การปฏิรูปการศึกษาภาพรวมที่จะประสบความสำเร็จ ไม่ได้เกิดจากการเลียนแบบคนต่างชาติโดยไม่ลืมหูลืมตา แต่ควรคิดถึงบริบทของประเทศไทยด้วย ซึ่งประเทศต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาจะต้องทำงานร่วมกัน และมีการบูรณาการการทำงาน (Alignment) ระหว่างกัน
2. การให้ความสำคัญกับหลักสูตร การเรียนการสอน ตำราเรียน และการประเมินผล โดยจะต้องมั่นใจว่าเป็นหลักสูตรที่นักเรียนไม่ต้องเรียนมาก แต่ให้รู้ลึกและมั่นคง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ส่วนการประเมินจะต้องเกิดขึ้นทันทีเมื่อเด็กได้เรียนรู้ ครูต้องเข้าใจและรู้ให้ได้ในทันทีว่า เด็กเข้าใจในสิ่งที่สอนหรือไม่ ตลอดจนมีลำดับการเรียนที่ชัดเจน แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยใช้ข้อมูลและหลักฐาน เมื่อนั้นการปฏิรูปก็จะเกิดความสำเร็จ


UploadImage

              ทั้งนี้ มีภารกิจใหญ่ที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องดำเนินการคือ วางกรอบมาตรฐานหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์และกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และขณะนี้ได้เตรียมร่างหลักสูตรขึ้นมาใหม่ โดยนำปัญหาจากการใช้หลักสูตรเดิมมาปรับมาตรฐาน เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานพิจารณาต่อไป 
 
               อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้วิเคราะห์ร่างหลักสูตรของ สสวท.แล้ว พบว่ามีส่วนที่ดีกว่าหลักสูตรเดิมหลายประการ และเสนอให้มีการปรับปรุงบางส่วน เช่น ทบทวนการประเมินผลให้สามารถประเมินได้ตรงกับสิ่งที่เราต้องการด้วยความยุติธรรมและเที่ยงตรง หลักสูตรที่ดีไม่ควรเรียนมากแต่ให้เรียนในเชิงลึก มีลำดับการเรียนตามแต่ละช่วงวัยที่ชัดเจนว่า วัยใดควรเรียนอะไร เพื่อให้รู้อะไร รวมทั้งจะต้องมีความสอดคล้องกันระหว่างหลักสูตร-ตำราเรียน-การสอบ มีการดึงคนเก่งเข้ามาร่วมสร้างหลักสูตร ตลอดจนให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมครูตามหลักสูตรใหม่ โดยฝึกอบรมระหว่างที่ครูยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย จากนั้นจึงมาฝึกอบรมให้ครูประจำการต่อไป


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สทศ.

คนอื่น ๆ อ่านเรื่องนี้ แล้วมักจะอ่านเรื่องต่อไปนี้ต่อ