ม.รังสิต ช่องสามลงนามความร่วมมือจัดตั้งสถาบันภาพยนตร์และการละคร หวังผลิตนักศึกษาให้มีประสิทธิภาพด้านการเขียนบทเพื่อผลิตละครคุณภาพ ยกระดับทีวีไทยสู่สากล
เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2558 มหาวิทยาลัยรังสิตจัดพิธีลงนามความร่วมมือจัดตั้งสถาบันภาพยนตร์และการละคร ระหว่างมหาวิทยาลัยรังสิตและสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ณ อาคารศาลาดนตรีสุริยเทพ ภายในงานมีการแสดง หน้ากากจินตทัศน์
จากศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และมีการแสดงดนตรีแจ๊ส จากวง Rangsit Universary Jazz Orchester ควบคุมโดย ผศ.ดร.เด่น อยู่ประเสริฐ คณบดีวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต ก่อนลงนามความร่วมมือจัดตั้งสถาบันภาพยนตร์ฯ
ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ประธานในพิธี กล่าวบนเวทีว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิต จัดตั้ง สถาบันภาพยนต์และการละครขึ้นในประเทศไทยเพราะ สื่อสารมวลชน มีความสำคัญต่อชาติบ้านเมือง เปรียบได้เป็นเสาหลักที่ 4 ของชาติ บ้านเมืองจะอยู่ได้ต้องประกอบด้วย 4 เสา เสาแรก คือ ฝ่ายการเมือง การปกครอง และการบริหาร เสาที่ 2 คือ ฝ่ายเศรษฐกิจ ธุรกิจทั้งหลาย เสาที่ 3 คือ ประชาชนและสังคม เสาที่ 4 คือ สื่อสารมวลชน
ดร.อาทิตย์ กล่าวต่อไปว่า “สื่อมวลชนมีความสำคัญต่อการศึกษาของประชาชนทั้งประเทศ เพราะให้การศึกษาของสถาบันการศึกษานั้น มีเพียง เศษ 1 ส่วน 4 ของชีวิตเท่านั้น แต่บทบาทของสื่อสารมวลชนมีมิติมากมาย คอยให้การศึกษา และความรู้สึกนึกคิด เช่น ไม่ทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งบ้านเมืองมีความสงบสุข อยู่ดีกินดี ขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชนเป็นหลัก
เมื่อต้นปีคณะนิเทศศาสตร์ก็ได้เปิดหลักสูตรปริญญาตรีสาขาการประพันธ์บทและกำกับการแสดงเป็นที่แรก จากการให้คำปรึกษาของผู้บริหารของไทยทีวีสีช่อง 3 ทำให้ต้องอาศัยศาสตร์อื่นๆในการบูรณาการ ต้องขอชื่นชมผู้บริหารของไทยทีวีสีช่อง 3 ที่ได้สร้างบุคลากรใหม่ๆ ซึ่งไม่ใช่ประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เพื่อสร้างศักยภาพและสร้างมิติ ของการภาพยนตร์และการละคร ที่ได้รับความร่วมมือจากหลายๆฝ่าย” ดร.อาทิตย์ กล่าว
อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิตกล่าวว่ามหาวิทยาลัยรังสิตจะยกฐานะของคณะนิเทศศาสตร์ขึ้นเป็นวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ โดยมีสาขาภาพยนตร์และการแสดงรวมอยู่ด้วย และบูรณาการร่วมกับคณะอื่นๆในมหาวิทยาลัย โดยจะเปิดหลักสูตรปริญญาโท สาขาการประพันธ์บทและกำกับการแสดง เพื่อให้ผู้สนใจที่จบปริญญาตรีจากทุกๆสาขาได้เลือกเรียน เนื่องจากละครหรือภาพยนตร์นั้นประกอบด้วยหลายมิติ ดังนั้นผู้เขียนบทต้องมีความรู้ในหลายๆด้านที่ลึกซึ้ง
ทางด้านของ อาจารย์อนุสรณ์ ศรีแก้ว คณบดีคณะนิเทศศาสาตร์มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การจัดตั้งสถาบันภาพยนตร์และการละคร เกิดขึ้นจากการหารือที่ทำให้เห็นตรงกันว่าสถานีโทรทัศน์มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เป็นระบบทีวีดิจิทัลเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา เกิดการขาดแคลนบุคลากรจำนวนมากโดยเฉพาะในเรื่องของการเขียนบทละครและโทรทัศน์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะก่อนจะมีการสร้างละครโทรทัศน์นั้น บทละครโทรทัศน์ถือเป็นปัจจัยปัจจัยที่บอกว่าละครโทรทัศน์เรื่องนั้นดีหรือไม่
“ทุกวันนี้ผู้เขียนบทมีจำนวนน้อยมากละครบางเรื่องต้องมีการพักกอง เนื่องจากคนเขียนบทเขียนไม่ทันและในขณะเดียวกันผู้เขียนบทคนเดียวนั้นก็อาจจะมีมุมมองที่ซ้ำซาก เพราะทางช่อง 3 มีคนเขียนบทเพียง 7 คนเท่านั้น ซึ่งทางผู้จัดและผู้กำกับนั้นต้องการบทโทรทัศน์ที่มีการสร้างสรรค์ใหม่ๆออกมาบ้าง เพราะฉะนั้นจึงเกิดการร่วมมือกันระหว่างสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 กับมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมและมีศักยภาพ อีกทั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิตยังมีวิสัยทัศน์ที่ทันสมัยและกว้างไกล ซึ่งเป็นสิ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จ” คณบดีคณะนิเทศศาสตร์กล่าว
อาจารย์อนุสรณ์กล่าวทิ้งท้ายว่าทางคณะนิเทศศาสตร์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการร่วมมือกันในครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพละครและโทรทัศน์ทีวีไทยให้ก้าวไปสู่ระดับสากลได้
ด้านนาย สมรักษ์ ณรงค์วิชัย รองกรรมการผู้จัดการไทยทีวีสีช่อง 3 กล่าวบนเวทีว่า ขอบคุณทางมหาวิทยาลัยรังสิตที่ให้โอกาสช่อง 3 ได้มีส่วนร่วมในการสร้างบุคลากรเพื่อกลุ่มโทรทัศน์ ทางช่อง 3 อยากให้นักศึกษารุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการโทรทัศน์ดังกล่าวด้วย ซึ่งทางนักศึกษาก็จะได้รับโจทย์ต่างๆที่ได้รับอนุมัติจากทางผู้จัด ซึ่งมีผู้จัดหลายคณะที่ลงมาดูแลนักศึกษาอย่างใกล้ชิด จากนั้นก็จะมีการประชุมและฝึกงานจริงเพื่อพิสูจน์งานของตัวนักศึกษาเองได้ต่อสาธารณชน ซึ่งเป็นความคาดหวังของทางช่อง 3 ที่จะสามารถพัฒนาโครงการนี้ไปได้พร้อมๆกับทางมหาวิทยาลัยรังสิต
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัยรังสิต