รองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการ สทศ. เป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ “การนำผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ไปสู่การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน” กล่าวว่า สทศ. ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครู อาจารย์ บุคลากรที่เกี่ยวข้องได้รับทราบถึงแนวทางในการนำผลสอบ O-NET ไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการบริหารของผู้บริหาร และการจัดการเรียนการสอนของครูเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนให้สูงขึ้น ตามนโยบายที่ต้นสังกัดกำหนดอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนแบบครูมืออาชีพควบคู่กับการปฏิบัติงานประจำวัน โดยมี 4 ข้อสำคัญ ดังนี้
ผู้อำนวยการ สทศ. ได้เน้นให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครู อาจารย์ น้อมนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ให้ครูรักเด็กและเด็กรักครู ให้ครูสอนเด็กให้มีน้ำใจต่อเพื่อนไม่ให้แข่งขันกัน แต่ให้แข่งกับตัวเอง ให้เด็กที่เรียนเก่งกว่าช่วยสอนเพื่อนที่เรียนช้ากว่า ให้ครูจัดกิจกรรมให้นักเรียนทำร่วมกัน เพื่อให้เห็นคุณค่าของความสามัคคี” สู่การเรียนการสอน และผู้อำนวยการ สทศ. ได้เน้นให้ส่งเสริมพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนแบบยึดหลัก “สุ จิ ปุ ลิ” ตลอดจนในการพัฒนาการเรียนการสอนในชั้นเรียนให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงของแต่ละองค์ประกอบของกระบวนการจัดการศึกษา (OLE) คือ O (Objective) หมายถึง จุดมุ่งหมายของการศึกษา คุณภาพของผู้เรียน แผนการสอน แผนการวัดและประเมินผลผู้เรียน , L (Learning) หมายถึง การเรียนการสอน เน้นให้คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น และ E (Evaluation) หมายถึง การวัดและประเมินผล โดยเน้น Formative Assessment (การประเมินผลย่อย) และ Summative Assessment (การประเมินผลรวบยอด)
นอกจากนี้ ยังได้แนะถึงวิธีการนำ O-NET ไปใช้ในการพัฒนาและยกระดับผลสัมฤทธิ์ของโรงเรียน โดยการนำใบรายงานผลการทดสอบ O-NET ไปใช้พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน โดยเฉพาะการนำใบรายงานผล O-NET ฉบับที่ 2 ค่าสถิติระดับโรงเรียน แยกตามมาตรฐานการเรียนรู้, ฉบับที่ 5 ค่าสถิติระดับโรงเรียน แยกตามสาระการเรียนรู้, ฉบับที่ 6 ค่าสถิติระดับโรงเรียน แยกตามรายวิชา ไปวางแผนปรับปรุงการเรียนการสอน เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม การสอบ O-NET เป็นข้อสอบกลาง ออกตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 การสอบ O-NET มีประโยชน์ต่อนักเรียนและโรงเรียนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการทดสอบที่สิ่งสะท้อนผลการจัดการศึกษาในระดับชั้นเรียน ระดับโรงเรียน และสะท้อนถึงคุณภาพนักเรียน อีกทั้งยังสามารถใช้ผลการทดสอบในการประเมินตนเอง (แข่งกับตัวเอง) และประเมินเทียบกับผู้อื่น (แข่งกับเพื่อน) ได้อีกด้วย
ทั้งนี้ ก่อนการสอบ O-NET สทศ.ขอให้ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนทุกท่าน เข้าไปศึกษาข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวการสอบ O-NET เช่น ผังการออกข้อสอบ (Test Blueprint) รูปแบบข้อสอบ (Item Form) ตัวอย่างข้อสอบแต่ละรูปแบบ และตัวอย่างกระดาษคำตอบ/เกณฑ์การให้คะแนน ฯลฯ ได้ที่เว็บไซต์ สทศ. www.niets.or.th
ในช่วงบ่าย มีการบรรยายหัวข้อ “การบริหารการจัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET)” โดย นายพัฒนา ธนากร หัวหน้ากลุ่มงานบริหารการทดสอบ โดยกล่าวว่า การทดสอบ O-NET ในปีการศึกษา 2558 ได้ลดวิชาสอบจาก 8 วิชา เหลือ 5 วิชาหลัก ได้แก่ ภาษาไทย, สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม, วิทยาศาสตร์, ภาษาอังกฤษ, คณิตศาสตร์ และเน้นย้ำขอให้ศูนย์สอบดำเนินการตามปฏิทินการส่งข้อมูลนักเรียน การปฏิบัติตามคู่มือการจัดสอบและระเบียบการสอบ สำหรับวันสอบและวันประกาศผลสอบ O-NET ประจำปีการศึกษา 2558 ดังนี้