สอบเข้ามหาวิทยาลัย

ทปอ.พร้อมลุยเดี่ยวเคลียริงเฮาส์ พร้อมปรับปรุงข้อสอบ GAT/PAT และวิชาสามัญ

"พงษ์อินทร์" เชื่อตุลานี้ได้ข้อสรุป ระบบเคลียริงเฮาส์ หาก มรภ.-มทร.ไม่ร่วม ทปอ.ก็เดินหน้าต่อ รับการดึงทุกมหา'ลัยร่วมเป็นเรื่องยาก แต่ไม่คิดเด็กจะเลือกแต่ ม.ชั้นนำ
UploadImage

       นายพงษ์อินทร์ รักอริยะธรรม ประธานคณะทำงานแอดมิชชั่นฟอรัมของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดระเบียบการรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ในระบบรับตรงกลางร่วมกันหรือระบบเคลียริงเฮาส์ ตามนโยบายของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ซึ่งต้องการลดปัญหาการวิ่งรอกสอบ ลดค่าใช้จ่าย และลดความเหลื่อมล้ำ โดยให้มหาวิทยาลัยทุกกลุ่มใช้ข้อสอบกลางในการคัดเลือก ว่า ในส่วนของ ทปอ. ต้องรอความชัดเจนจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) และที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) ซึ่งหลังจากที่ผู้แทนทุกกลุ่มมหาวิทยาลัยเข้าพบ รมว.ศธ. เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา กลุ่ม ทปอ.มรภ.และ กลุ่ม ทปอ.มทร.จะประชุมเพื่อหาข้อสรุปภายในเดือนกันยายนนี้ จากนั้นกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะนัดประชุมร่วมกันทุกฝ่ายอีกรอบ ซึ่ง ทปอ.ก็รอฟังผล ซึ่งคาดว่าทุกอย่างน่าจะชัดเจนภายในเดือนตุลาคม ซึ่ง ทปอ.จะได้นำเข้าหารือในการประชุมวันที่ 30 ตุลาคม ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้

       นายพงษ์อินทร์กล่าวต่อว่า หากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้ง ทปอ.มหาวิทยาลัยรัฐเดิม, ทปอ.มรภ., ทปอ.มทร. ได้ข้อสรุปที่จะเข้าระบบรับตรงกลางร่วมกัน สิ่งที่ ทปอ.จะดำเนินการต่อคือ การประชุมปรับปรุงข้อสอบกลาง ทั้งแบบวัดความถนัดทั่วไป หรือ GAT และแบบวัดความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT และวิชาสามัญ 9 วิชา โดยมหาวิทยาลัยทุกกลุ่มร่วมกันให้ความเห็น แต่หากถึงที่สุดแล้ว กลุ่ม มรภ. และ มทร. ไม่ร่วมด้วย ทปอ.ก็คงต้องปรับปรุงข้อสอบกลางโดยลำพัง และเดินหน้าจัดระเบียบระบบรับตรง โดยเริ่มจากกลุ่มมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิก ทปอ.​ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ คือ ปีการศึกษา 2561

       "การดึงมหาวิทยาลัยทุกกลุ่มมาร่วมในระบบเดียวกัน แม้จะเป็นสิ่งที่ยาก แต่ผมเชื่อมั่นว่าเป็นไปได้ ขณะนี้ มรภ.และ มทร. มีความห่วงว่า หากรวมในระบบเดียวกัน นักเรียนจะแห่เลือกมหาวิทยาลัยในสมาชิก ทปอ.มากขึ้น ซึ่งผมคิดว่าไม่เป็นเช่นนั้น เพราะ มรภ.และ มทร. ก็มีเอกลักษณ์ของตัวเอง และการร่วมในระบบคัดเลือกเดียวกันจะทำให้มาตรฐานมหาวิทยาลัยดีขึ้น เพราะข้อสอบกลางในการคัดเลือกบุคคลจะได้รับการพัฒนาเทียบเท่าข้อสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยของนานาชาติ ส่วนกลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชน ผมคิดว่าไม่เป็นปัญหา เนื่องจากขณะนี้ ม.เอกชนก็ใช้คะแนนข้อสอบกลางอยู่แล้ว" ประธานแอดมิชชั่นฟอรัม ทปอ.กล่าว.


ขอขอบคุณที่มา : ไทยโพสต์