สอบเข้ามหาวิทยาลัย

“ยุคนี้ เราต้อง Very Highly Differentiation คือถ้าไม่แตกต่าง เราก็อยู่ไม่ได้" แนวคิดการทำงานของอธิิการบดี DPU

UploadImage

ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจการศึกษา โดยเฉพาะระดับมหาวิทยาลัยภาคเอกชนที่ขนคุณภาพมาประชันกันอย่างเต็มที่ “คุณแพรว – ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์” อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในฐานะทายาทรุ่น 3 ที่เพิ่งเข้ามารับช่วงกิจการมหาวิทยาลัย ก็เป็นหนึ่งในผู้บริหารระดับสูงที่ต้องแบกภารกิจอันหนักหน่วง แต่เพราะการได้มีโอกาสคลุกคลีอยู่กับธุรกิจครอบครัวนานกว่า 10 ปี ทันทีที่ก้าวขึ้นรับตำแหน่งอธิการบดี เธอก็พร้อมเดินหน้าทันที


“เริ่มเข้ามารับตำแหน่งเดือนกุมภาพันธ์ 2559 พอรับตำแหน่งก็ประชุมทีมเลยทันที จัดทีมใหม่ ว่าใครจะเป็นรอง เพื่อดูแลด้านไหนบ้าง ”

“คุณแพรว” พูดถึงวิชันขององค์กร ที่ก่อนหน้านี้เน้นย้ำเรื่องคุณภาพ แต่เมื่อมาถึงยุคที่การแข่งขันสูงเช่นนี้ คุณภาพอย่างเดียวไม่พอ การทำธุรกิจการศึกษาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทุกอย่างเปลี่ยนไปมาก รูปแบบการแข่งขันก็เปลี่ยนไป 100% เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญที่ผู้บริหารหญิงท่านนี้เล็งเห็น คือ “การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่”

“ยุคนี้ เราต้อง Very Highly Differentiation คือถ้าไม่แตกต่าง เราก็อยู่ไม่ได้ เมื่อเราเข้ามา ก็เริ่มปรับบิสิเนสโมเดล ปรับมุมมอง ปรับความคิด แต่องค์กรของเราใหญ่ มีอายุ 50 ปี ก็ต้องใช้เวลาในการปรับหน่อย”

ซีอีโอหญิงท่านนี้วางวิชัน 5 ปีของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ไว้ชัดเจน ด้วยการก้าวขึ้นสู่การเป็น “ผู้ขับเคลื่อนหลักสำหรับธุรกิจใหม่” ซึ่งประกอบด้วย Business Healthcare, Tourlism และ . Digital Business

ช่วง 3 เดือนแรกของการเข้ารับตำแหน่ง เธอจึงเดินหน้าประชุมกับระดับบริหารทั้งหมด ตีโจทย์ที่ตั้งไว้ออกมาเป็นกลยุทธ์ กำหนดเป็นแผนงานว่าจะต้องทำอะไรบ้าง โดยสอดแทรกด้วยจุดแข็งของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในความเป็น “ไชน่า-อาเซียน” จากการเป็นผู้นำของมหาวิทยาลัยเอกชน ที่ได้รับการยอมรับจากนักศึกษาต่างชาติ โดยเฉพาะ “จีน”ซึ่งปัจจุบันมีนักศึกษาจีนมาเรียนในระดับปริญญาตรีและโทมากถึง 2,500 คน

“ดร.ดาริกา” บอกว่า โจทย์หลักที่ต้องเร่งดำเนินการก่อนเลยก็คือ การจัดหลักสูตรการเรียนการสอน ให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนด คือ 1. Entrepreneur 2.ความรู้เรื่องอาเซียน-จีน และ 3. ดิจิตอล ทั้ง 3 ส่วนนี้จะเป็นธีมหลักที่ใช้ในการศึกษาทั่วไปโดยไม่เน้นเรื่องทฤษฎีมากเกินไป แต่จะเน้นกิจกรรม การแสดงออก การสร้างประสบการณ์ให้กับนักศึกษา

ส่วนความเป็นไชน่า – อาเซียน จะไม่ใช่แค่เพียงการรับนักศึกษาจีนหรืออาเซียนเข้ามาเพิ่มเท่านั้น แต่จะสร้างความเชื่อมโยงของวัฒนธรรม และสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ๆ ให้กับนักศึกษา ทั้งจากโปรแกรมการเรียน กิจกรรม และสภาพแวดล้อม ซึ่งถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านประสบการณ์การเรียนการสอนแบบอินเตอร์ให้กับผู้เรียน

“ดร.ดาริกา” บอกว่า วิชัน 5 ปีของเธอกำลังเดินไปตามแผน ซึ่งจะเน้นหนักด้านการลงทุนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆในระยะ 2 ปีนี้ ด้วยงบกว่า 1,500 ล้านบาท พร้อมทั้งเตรียมรับนักศึกษาจีน-อาเซียน เข้ามาเพิ่ม จากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 15% เพิ่มเป็น 30% และเพิ่มศักยภาพของบุคลากร ด้วยการจัดเทรนนิ่งเดย์ หรือ DPU DAY เพื่อพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายองค์กร ให้กับบุคลากรในทุกตำแหน่งหน้าที่

ส่วน 3 เดือนหลังจากนี้ เธอจะพูดคุยกับคณบดีประจำคณะต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์แผนการเรียนการสอน ให้เป็นไปตามเป้าหมาย มีการปรับเพิ่มเติมความรู้ในหลักสูตรการเรียนการสอนต่างๆ

อธิการบดีสาวเก่งคนนี้กล่าวว่า เธอเป็นผู้นำที่ไม่ได้มีกรอบหรือพิธีรีตองอะไรมากมาย เธอจะกำหนดเป้าหมายของการทำงาน แล้วเดินไปให้ถึงเป้าหมายนั้น ที่สำคัญคือ เรื่องของความรวดเร็วในการทำงาน การคิด การปรับเปลี่ยน ที่ต้องทันกับสถานการณ์ และการแข่งขัน ไม่เช่นนั้น ก็คงแข่งขันกับใครไม่ได้

การทำงานในลักษณะนี้ แน่นอนว่า One Man Show ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทีมงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ การพูดคุยแบบพี่น้อง ไม่มีขั้นตอนมาก จึงจะทำให้งานเดินไปได้อย่างลื่นไหล ทุกอย่างจะเดินหน้าไปสู่จุดหมายด้วยกัน นั่นคือวิธีทำงานของหญิงเก่งที่ชื่อ “ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์” คนนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,162 วันที่ 2 – 4 มิถุนายน พ.ศ. 2559

คนอื่น ๆ อ่านเรื่องนี้ แล้วมักจะอ่านเรื่องต่อไปนี้ต่อ