สอบเข้ามหาวิทยาลัย

เตรียมจัดหนัก 20 มหาวิทยาลัย รับนักศึกษาเกินกว่าที่แจ้งและมีการทุจริต

UploadImage


          เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งคสช. ที่ 39/2559 เรื่องการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา เบื้องต้นมีผลใช้บังคับกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ชัยภูมิ และ มรภ.สุรินทร์ ซึ่งสาระให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยคำแนะนำของคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) มีอำนาจสั่งให้ผู้ดำรงตำแหน่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ พ้นจากตำแหน่ง หรือให้ไปปฏิบัติงานอื่น และกรณีที่นายกและกรรมการสภาต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หน้าที่ทั้งคณะ ให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.แต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกและกรรมการสภาจำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 15 คนนั้น ว่า กกอ.ได้เสนอปัญหาและแนวทางแก้ปัญหา มรภ.สุรินทร์ และ มรภ.ชัยภูมิ โดยขอให้แต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสภา อธิการบดี และรองอธิการบดี ให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา อย่างไรก็ตามการใช้ ม.44 แก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นแนวทางเบื้องต้น แต่ระยะยาวจะต้องเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยสาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษามีลักษณะเดียวกับคำสั่งใน ม.44 ที่ให้อำนาจคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เข้าถ่วงดุลอำนาจสภามหาวิทยาลัย


       จากนี้มหาวิทยาลัยที่รู้ตัวว่ามีปัญหา ขอให้สภากลับไปทบทวนและหาทางแก้ปัญหาให้ได้ กกอ.จะยังไม่เข้าไปตรวจสอบอะไร ส่วนจะให้เวลาสภาแก้ปัญหานานแค่ไหนคงไม่สามารถตอบได้ ขึ้นอยู่กับสภาพปัญหา แต่คงให้เวลาไม่นานนัก หากไม่เร่งแก้ไขก็อาจเป็นคิวถัดไป ซึ่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.มีอำนาจในการออกคำสั่งให้สถาบันอุดมศึกษาเหล่านั้นอยู่ในความควบคุมของ สกอ. โดยมหาวิทยาลัยที่อยู่ในกลุ่มที่ต้องเร่งแก้ปัญหา มีอยู่ประมาณ 10% หรือคิดเป็นประมาณเกือบ 20 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาเรื่องการรับนักศึกษาเกินกว่าที่แจ้ง ให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) รับทราบจำนวน 11 แห่ง นอกนั้นเป็นมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาการทุจริตของผู้บริหาร ความแตกแยกของสภากับฝ่ายบริหาร สภาอาศัยช่องทางกฎหมายสั่งปลดอธิการบดี” นพ.กำจรกล่าว

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :  ประชาชาติธุรกิจ