Master Degree

การกระทำอันไม่ชอบธรรมทางการศึกษา (Educational Malpractice) จบแล้วไม่มีงานทำ...เราต้องแบกรับเพียงคนเดียว(หร่อ)?


" สถานศึกษาที่ไม่สามารถผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพได้ สถาบันฯ อาจารย์ผู้สอน หรือใครควรที่จะต้องรับผิดชอบเรื่องนี้หรือไม่? "


 

          ปัจจุบันสถาบันการศึกษาถือเป็นการประกอบธุรกิจประเภทหนึ่ง (For-Profit Organization) เพราะลักษณะการประกอบการนั้นมุ่งหวังกำไรจากการดำเนินการ นิสิต/นักศึกษาที่เข้าไปเรียนต่างก็มีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ใช้เวลาเรียน 3-4 ปีหรือมากกว่า แต่เมื่อจบการศึกษาแล้วกลับไม่สามารถหางานที่เหมาะสม คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายและเวลาที่หมดไปในสถาบันการศึกษา อย่างนี้ถือว่าสถานศึกษาต้องรับผิดต่อนักศึกษาอย่างไรหรือไม่? สถาบันการศึกษาจำนวนมากมีการประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนให้มาเรียน มีกิจกรรมต่างๆ ดึงดูดให้คนมาสมัครเรียน มีการอ้างถึงความสำเร็จของผู้ที่จบการศึกษาที่จบไปแล้วประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน มั่งคั่งมั่นคง มีเกียรติในสังคม ในสถาบันมีเครื่องมือและอุปกรณ์ใช้เพื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยและที่สำคัญคือมีคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงว่าเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ สิ่งเหล่านี้ดึงดูดใจให้ผู้ที่ต้องการศึกษาในมหาวิทยาลัยตัดสินใจสมัครเข้ารับการศึกษา และคาดหวังว่าเมื่อจบการศึกษาจากสถาบันเหล่านั้นจะมีงานที่ดีรองรับและมั่งคั่งร่ำรวยดังเช่นที่มหาวิทยาลัยประชาสัมพันธ์ไว้ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง สิ่งเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะบัณฑิตจำนวนมากไม่สามารถหางานทำได้ ไม่สามารถหารายได้เพียงพอต่อการใช้ชีวิต ไม่สามารถคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาได้ ทั้งๆ ที่ได้เรียนกับสถาบันที่กล่าวอ้างว่าดีมีคุณภาพ


          เมื่อไม่นานที่ USA ได้มีปรากฎการณ์ผู้สำเร็จการศึกษาที่เรียนจบแล้ว ไม่สามารถทำงานมีรายได้พอที่จะส่งคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาและถูกสำนักงานกู้ยืมเพื่อการศึกษาติดตามทวงถาม/ดำเนินคดี พวกเขาเหล่านั้นโต้แย้งว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากพวกเขา แต่เกิดจากมหาวิทยาลัยที่ไม่สามารถทำให้พวกเขาจบการศึกษา มีงานทำที่ดี มีรายได้พอเพียงที่จะดำรงชีวิต ส่งผลให้พวกเขาไม่มีเงินเหลือพอส่งคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยและคณะจารย์ไม่ได้ทำให้พวกเขามีความรู้/ความสามารถเพียงพอในการประกอบวิชาชีพตามที่ได้ศึกษามา
 

          ในประเทศไทยก็พบเจอปัญหานี้เช่นเดียวกัน เพราะมหาวิทยาลัยเกือบทั้งหมดมีลักษณะการบริหารจัดการแบบองค์กรแสวงหาผลกำไร (For-Profit Organization) เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งทั้งหมดจัดตั้งขึ้นเพื่อผลิตบัณฑิตที่ต้องใช้เงิน ใช้เวลาเรียนหลายๆ ปี และจำนวนมากที่ต้องกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ถือเป็นการลงทุน แต่เมื่อจบการศึกษาแล้ว กลับไม่สามารถหางานที่ได้รับค่าตอบแทนที่คุ้มค่ากับการลงทุน ไม่สมกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของสถาบันการศึกษาทั้งโดยตรงและโดยแฝงว่าโดดเด่น มีผู้จบการศึกษาประสบความสำเร็จ ผลิตบัณฑิตได้ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน มีครูอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งการสอนการวิจัย มีอุปกรณ์ทันสมัยเพื่อการเรียนการสอน และอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งนี้ไม่รวมถึงกลยุทธ์วิธีการทางการตลาดที่ใช้ระบบขายตรง หาคนมาเรียน มีการให้ค่านายหน้า ส่วนลด เปอร์เซ็นต์ แจกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ จัดอาหารเลี้ยงดูระหว่างพักพร้อมของว่าง และอีกมากมายหลายอย่างหลายวิธีที่แต่ละสถาบันจัดสรรขึ้นมาเพื่อเอาใจผู้มาเรียน และนี่คือการขายบริการเช่นกัน


          แน่นอนว่าสิ่งที่สรรหาให้ผู้เรียนที่นอกเหนือจากการเรียนการสอน ก็จะเป็นเรื่องการลงทุนทางธุรกิจที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยแม้แต่น้อย แต่ประเด็นสำคัญคือผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยจำนวนมากไม่สามารถหางานทำได้ ผลการสำรวจของหลายสถาบันพบว่าผู้ที่จบปริญญาตรีของบ้านเรามีอัตราการว่างงานสูงที่สุด สูงกว่าผู้ที่จบการศึกษาระดับอาชีวะ และที่สำคัญคือผู้มีความรู้จบปริญญาตรีกว่า 30,000 คนเป็นคนจนที่ขอรับสวัสดิการจากรัฐ นอกจากนี่ยังมีบัณฑิตปริญญาโทและปริญญาเอกอีกนับพันคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการจากรัฐ การผลักภาระทั้งหมดให้ผู้รับการศึกษาว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถความชำนาญของแต่ละบุคคลเป็นสิ่งที่ผิวเผินเกินไป เพราะถ้าอย่างนั้นพวกเขาก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปเรียนมหาวิทยาลัย แล้วถ้าพวกเขาไม่เรียน ก็จะส่งผลให้พวกเขาไม่มีงานทำ/ไม่มีรายได้ หากเป็นเช่นกันพวกเขาก็คงโทษใครไม่ได้อย่างแน่นอน แต่นี่เป็นเรื่องที่พวกเขาขวนขวายเพื่อว่าจะได้มีความรู้/ความสามารถมาประกอบวิชาชีพ แต่เมื่อจบมาแล้วกลับไม่มีงานทำหรือมีงานทำแต่เป็นงานที่มีรายได้น้อยจนกระทั่งไม่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ อย่างนี้สิ่งที่เขาได้ทุ่มเทไปทั้งเวลา ทั้งเงินทุน ก็สูญเปล่าอย่างสิ้นเชิงโดยไม่มีใครต้องรับผิดชอบหร่อ?

 

          บางครั้งอาจจะต้องหันมาคิดใหม่ว่ามหาวิทยาลัยกว่า 200 แห่งที่ยังเปิดสอนอยู่ได้ดำเนินการอย่างรับผิดชอบในผลผลิตของตัวเองแล้วหรือยัง และถ้ายังก็น่าจะต้องรับผิดในความสูญเสียทางการศึกษาด้วย ไม่ใช่ลอยตัว...ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรแบบในปัจจุบันนี้ ระบบความรับผิดจากการประกอบวิชาชีพโดยมิชอบ (Malpractice) ได้ใช้กับผู้ประกอบวิชาชีพทั้งหลายมานานแล้วไม่ว่าเป็น แพทย์ ทนายความ นักบัญชี วิศวกร สถาปนิก แต่เราอาจจะลืมคิดไปว่า ครู/อาจารย์ มหาวิทยาลัย ก็เป็นผู้มีวิชาชีพเช่นเดียวกัน จึงควรมีส่วนเกี่ยวข้องที่จะรับผิดในฐานประพฤติมิชอบในวิชาชีพ (Malpractice) เช่นเดียวกับผู้ประกอบวิชาชีพอื่นๆ ไม่ใช่หรือ


          คงถึงเวลาที่จะต้องมาประเมินทั้งสถาบันการศึกษาและครู/อาจารย์ในสถาบันการศึกษา ว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพในด้านการเรียนการสอนในฐานะผู้มีวิชาชีพว่าเป็นผู้มีความสามารถ (Competency) อยู่ในมาตรฐานไหม? ตัวชี้วัดที่สำคัญคงไม่ใช่แค่ใบปริญญาของบุคคลากรหรือบัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษา แต่เป็นความรู้ความสามารถของบัณฑิตที่จบการศึกษาจากสถาบันนั้นๆ ที่จะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญมากกว่า


 

" แต่ถ้าเรียนจบมาแล้วไม่มีงานทำหรือมีรายได้ไม่มากพอ ดังที่มหาวิทยาลัยได้โฆษณา/ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้เข้ามาเรียน ก็ต้องถือว่าเป็นการโฆษณาโอ้อวดเกินจริงที่จะต้องมีคนรับผิด "
 




ข้อมูลจาก : กรุงเทพธุรกิจ

รีวิวหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง

เทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ มหาวิทยาลัยสยาม

สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยส...

บริหารธุรกิจ สาขาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

การค้าการลงทุนเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศมาตลอด ...

วิทยาลัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขาวิชาเทคโนโลยีสื่อสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ในทุกวันนี้สื่อ และเทคโนโลยีสารสนเทศได้ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตของเรา ...