อีกก้าวแห่งความสำเร็จ นิสิต ป.โท จุฬาฯ ค้นพบ "แมงมุมฝาปิดโบราณ" ชนิดใหม่ของโลกในประเทศไทย
ผู้ค้นพบคือ นายวรัตถ์ ศิวายพราหมณ์ นิสิตปริญญาโท คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยค้นพบแมงมุมฝาปิดโบราณ ที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เมื่อกลางปีที่แล้ว จึงได้ตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า "แมงมุมฝาปิดโบราณแม่วงก์" ซึ่งแมงมุมชนิดที่พบนี้เป็นชนิดใหม่ของโลก ลำดับที่ 97 และเป็นชนิดใหม่อันดับที่ 33 ที่ไทยได้ค้นพบ
แมงมุมฝาปิดโบราณแม่วงก์ มีลักษณะลำตัว ยาวไม่เกิน 1 – 2 เซนติเมตร ลักษณะของแผ่นปิดท้องยังไม่รวมเป็นแผ่นเดียว และมีอวัยวะสร้างใยอยู่กลางลำตัว ซึ่ง 2 ลักษณะนี้ ไม่พบในแมงมุมชนิดอื่น
สำหรับแมงมุมฝาปิดโบราณเป็นแมงมุมที่ค้นพบน้อยที่สุดเพียง 96 ชนิด หรือน้อยกว่า 1 % ของสายพันธุ์แมงมุมที่มีกว่า 46,000 สายพันธุ์ ส่วนมากค้นพบในประเทศญี่ปุ่น และด้านตะวันออกของประเทศจีน รวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น โดยประเทศไทยค้นพบเพียงแหล่งเดียวที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ซึ่งจะทำรังอยู่บริเวณริมหน้าผา ล่าเหยื่อด้วยการขุดหลุมฝังตัวเอง เพื่อพลางตัวก่อนจะพ่นใยออกมาดักจับเหยื่อที่เป็นแมงขนาดเล็ก และไม่เป็นอันตรายต่อคน
การค้นพบแมงมุมชนิดใหม่ที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ซึ่งคาดว่าจะมีการค้นพบพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ชนิดใหม่อีกมากในพื้นที่นี้