Master Degree

รมช.คมนาคม ถกหน่วยงานการศึกษาควรเร่งพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรด้าน "การคมนาคมระบบราง" ให้เพียงพอต่อความต้องการ

          นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม กล่าวปาฐกถาเรื่อง "โอกาสของการยกระดับศักยภาพของบุคลากรไทยผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งทางราง" ในการประชุมผู้บริหารเครือข่ายสถาบันวิชาการระบบขนส่งทางราง เพื่อกำหนดความต้องการด้านการพัฒนาบุคลากร และองค์ความรู้ที่สำคัญ ณ โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ ว่าด้วยการพัฒนาระบบรางเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง โดยอีกประมาณ 5 ปีหลังจากนี้โครงการรถไฟฟ้าต่างๆ จะทยอยเปิดให้บริการ ทั้งรถไฟฟ้าหลากสีในกทม. รถไฟฟ้ารางเบา รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ซึ่งไทยจะต้องการบุคลากรด้านราง ตั้งแต่ระดับสูงถึงระดับปฏิบัติการ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นคน


          ปัจจุบันศักยภาพในการผลิตบุคลากรด้านรางของไทยยังมีไม่มากนัก ซึ่งในขณะนี้มีสถาบันที่ผลิตบุคลากรด้านนี้เพียงไม่กี่แห่ง อาทิ โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ มหิดล, ม.เกษตรศาสตร์, ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ม.หอการค้า, ม.รังสิต และสถาบันอาชีวศึกษา 12 แห่ง รวมแล้วผลิตบุคลากรได้ปีละประมาณ 1,000 คน อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีบุคลากรด้านการขนส่งทางรางแล้ว 1 หมื่นคน ในระยะเวลาเหลืออีก 4 - 5 ปีจึงต้องเร่งดำเนินการผลิตบุคลากรให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้



          การจะพัฒนาหรือสร้างบุคลากรทางระบบรางให้มีคุณภาพนั้น องค์ความรู้ต่างๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่ว่าจะเป็น การสร้างระบบราง, ระบบอาณัติสัญญาณ, ระบบการควบคุมสถานี และการควบคุมรถ เป็นต้น จึงต้องร่วมกันคิดว่าจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบรางอย่างไรที่จะทำให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะการผลิตบุคลากรแต่ละประเภทต้องลงทุนทั้งอุปกรณ์และเครื่องมือในการเรียนรู้ วิจัย และพัฒนา ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ดังนั้นสถาบันการศึกษาแห่งเดียวคงไม่สามารถทำได้ จึงต้องแบ่งกันว่าสถาบันใดจะรับผิดชอบผลิตบุคลากรในด้านใด  จำเป็นที่จะต้องทำเป็นโรงเรียนหรือวิทยาลัยต่างๆ เพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งภายใน 6 เดือนหลังจากนี้จะเห็นภาพชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไรและเปิดสอนในระดับใดบ้าง
 

          โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบรางครั้งนี้จะให้ทางจีนเข้ามาร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับไทยด้วย เพราะเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขในสัญญาโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-หนองคายที่รัฐบาลไทยได้กำหนดไว้ โดยเบื้องต้นจะให้มีการจัดตั้งบริษัทร่วมกันระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และทางจีน เป็นบริษัทบริหารจัดการเดินรถและซ่อมบำรุง ซึ่งจากการหารือเบื้องต้นทางจีนก็พร้อม เพราะเป็นหน้าที่หลักที่จีนต้องทำให้ไทยสามารถเดินรถได้ และต้องซ่อมรถให้ได้ด้วย


 

ข้อมูลจาก : dailynews
 

รีวิวหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง

MBA (Thai Program) บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (MBA) ภายใต้การดูแลของ ...

MBA (ICT) บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (MBA) ภายใต้การดูแลของ ...

MBA (Day and Evening) บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือรู้จักกันในชื่อ เอเเบค (ABAC) ...