สำหรับตัว ดร.ปรีชา เอง การก้าวสู่เส้นทางโลจิสติกส์มีที่มาจากการได้รู้จักกับ ดร.กฤษฎ์ ฉันทจิรพร ประธานชมรมไทยโลจิสติกส์คนแรก เป็นจุดที่ทำให้ก้าวเข้ามาจับงานด้านนี้จริงจัง และด้วยภูมิหลังการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาโยธา จาก The University of New South Wales ประเทศออสเตรเลีย จึงไม่แปลกที่ ดร.ปรีชา จะสามารถศึกษาและปฏิบัติงานโลจิสติกส์ได้อย่างรอบด้าน นอกจากนี้ หน้าที่การงานปัจจุบันของ ดร.ปรีชายังเกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์โดยตรง ปัจจุบัน ดร.ปรีชา ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มโฟกัส จำกัด (ล็อกซเล่ย์ ไอที กรุ๊ป) ผู้ให้บริการด้านซอฟต์แวร์ ERP (Enterprise Resource Planning)
ความรู้ด้านเทคโนโลยีและโทรคมนาคม เป็นสิ่งที่ขาด ไม่ได้ที่คนทำงานโลจิสติกส์ต้องศึกษาไว้ เพราะกำลังมีบทบาท เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในการอำนวยความสะดวก เป็นเรื่องดีที่ปัจจุบัน ภาคเอกชนของไทยมีเทคโนโลยีในด้านนี้เป็นของตนเอง พร้อมจะเชื่อมกับผู้ให้บริการขนส่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามในศักยภาพคนไทยเรื่องเทคโนโลยีโลจิสติกส์เกี่ยวกับการเขียนระบบยังอ่อนอยู่
“ในกลุ่มบริษัทที่ผมอยู่ เขามีการรวมตัวกันเพื่อที่จะให้บริการทางด้านนี้ เพราะเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีด้าน Tracking การติดตามการขนส่งว่าสินค้าของเราอยู่ตรงไหน อะไรพวกนี้เรามี และแผนที่เราก็ค่อนข้างละเอียด วันนี้เรามีบริษัทที่ทำแผนที่ได้ละเอียดที่สุดในประเทศไทย และก็ยังมีอุปกรณ์ติดตามอะไรต่างๆ ในเรื่องของการติดตามรถ ตรวจสอบได้ว่ารถอยู่ตรงไหน เกิดอะไรขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคนไทยยังไม่เก่งในเรื่องของการเขียนระบบ พวกระบบวางแผนขนส่งสินค้าต่างๆ”
ในปี พ.ศ. 2546 ดร.ปรีชา ยังได้รับการแต่งตั้งจาก สภามหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ให้เป็นศาสตราภิชาน สาขาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ จากกองทุนศาสตราจารย์บริษัท ในเครือล่ำซำ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ปรึกษาโครงการการจัดการมหาบัณฑิตสาขาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ ให้คำปรึกษากับภาควิชาและหลักสูตรต่างๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งร่วมทำวิจัยเพื่อสนับสนุน การเรียนการสอนของสาขาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศในด้านการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ฯลฯ
ยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพบุคลากร ของ TLAPS
กับบทบาทนายกสมาคมไทยโลจิสติกส์และการผลิต ดร.ปรีชา กล่าวว่า สมาคมฯ เป็นสมาคมวิชาชีพ มีภารกิจในการพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีโครงข่าย ทำให้สมาคมฯ ตั้งคำถามว่า ควรทำอย่างไรให้เกิดมาตรฐานที่ดี โครงการพัฒนาบุคลากร ทางโลจิสติกส์จึงเป็นคำตอบนั้น และได้เสนอให้สภาพัฒน์ฯ
“เพราะสภาพัฒน์ฯ เคยเชิญเราไปร่วมประชุม โครงการนี้ เป็นโครงการที่เราทำร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ นอกจากคณาจารย์แล้วยังมีผู้เชี่ยวชาญโลจิสติกส์จาก ภายนอกเข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้วย รวมคณะทำงานทั้งหมด 13 ท่าน ก็ประชุมกัน จนกระทั่งเราทำเอกสารขึ้นมาก่อน เป็นโครงร่างว่าเราจะทำให้มืออาชีพในด้านนี้ ได้รับประกาศนียบัตรเรียกว่า CLSM : Certified in Logistics and Supply Chain Management”
“วันนี้เราอยากจะเชิญผู้เชี่ยวชาญ ผู้รู้ในภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษามารวมตัวกัน อาจจะเชิญผู้เชี่ยวชาญจาก ต่างประเทศด้วย มากำหนดว่าผู้ที่จะเป็นมืออาชีพได้ต้องมี องค์ความรู้อะไรบ้าง มาบอกว่าประเทศไทยต้องการทำประกาศนียบัตรอย่างนี้ ที่สำคัญคือทำเป็น Bilingual เพื่อคนที่สนใจจะเป็นมืออาชีพทางด้านนี้ เป็นการแสดงว่าเขาเข้าใจปัญหาของไทยและในภูมิภาค รู้จักจัดการได้ เป็นประโยชน์ต่อผู้รับและผู้ให้บริการขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งเขาวางแผนโลจิสติกส์ไปทั่วโลกเลย แต่ยังขาดคนที่มีความสามารถในการทำตามแผน ดังนั้น เราต้องมีคนที่มีความสามารถในด้านนี้”
“เราจะ Certified คนเหล่านี้ ถ้าสอบผ่านอย่างน้อย ก็จะมีองค์ความรู้ขั้นพื้นฐาน ที่จะพาองค์กรไปสู่ Practice ที่ดี เราก็หวังว่าภาครัฐจะให้ความสำคัญกับพัฒนาบุคลากร และเห็นความสำคัญของโครงการนี้ ผมคิดว่านี่เป็นแนวทางพัฒนาที่ยั่งยืน ในต่างประเทศเขามี สมมติว่าเรามีมืออาชีพ เป็นหลักพันคน คนเหล่านี้จะเป็นแขนขาให้กับธุรกิจไทยที่กำลังจะออกไปข้างนอก สามารถวางแผนได้อย่างเข้าใจและใช้วิธีการเชื่อมโยง พัฒนาสมองของคนจะเป็นการดีที่สุด”
ที่มา :
www.technologymedia.co.th