บทความนี้ เราจะพาน้องๆ ทุกคนมารู้จักกับสายงานที่เป็นกระแสและได้รับความสนใจในยุคดิจิทัลนี้อย่าง อาชีพ
ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ (Logistics Analyst/Logistics Specialist) จะน่าสนใจและมีอะไรที่ต้องรู้บ้าง ตามมาดูกันได้เลย
นิยามอาชีพ ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ (Logistics Analyst / Logistics Specialist)
ผู้ศึกษา วิเคราะห์ ให้คำปรึกษา แนะนำ เพื่อลดต้นทุนตั้งแต่ด้านบริหารคลังสินค้า ทั้งวัตถุดิบ สินค้าสำเร็จรูป และการบริหารงานขนส่งสินค้าเพื่อให้ลูกค้าที่ได้รับสินค้าตรงตามเวลาที่ต้องการแก่สถานประกอบการ
ลักษณะของงานที่ทำ
1. วิเคราะห์ดัชนีชี้วัดที่ทำให้มั่นใจหรือรับประกันได้ว่าการทำงานของสถานประกอบการมีประสิทธิภาพ
ทั้งในด้านของการบริหารคลังสินค้า การบริหารจัดการขนส่งสินค้าสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยยึดหลักการดำเนินการกระบวนการปฏิบัติงานซึ่งมีเอกสารประกอบสามารถวัดความสำเร็จของการดำเนินการได้
2. วิเคราะห์โลจิสติกส์ในด้านต่างๆ เช่น
งานคลังสินค้า การใช้พื้นที่จัดเก็บวัตถุดิบหรือสินค้าสำเร็จรูป งานส่งสินค้า ทั้งในเรื่องของวิธีการจัดส่ง ผู้ให้บริการขนส่ง และปัญหาการจัดส่งที่อาจจะเกิดขึ้น
3. สนับสนุนการทำงานบริการและกระบวนการพัฒนาการผลิต
4. ให้คำปรึกษาแนะนำแก่สถานประกอบการอุตสาหกรรมต่างๆ
ทั้งในภาคเอกชนหรือหน่วยงานรัฐบาล โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับประสิทธิภาพของการจัดการด้านการขนส่ง
รายได้และค่าตอบแทน
ผู้ประกอบอาชีพนี้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จนถึงปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจสาขาโลจิสติกส์ สาขาการจัดการ หรือสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในองค์กรธุรกิจภาคเอกชน ที่มีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนสวัสดิการต่างๆ ค่ารักษาพยาบาล และโบนัสเป็นไปตามเงื่อนไขข้อตกลงกับผู้ว่าจ้าง ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง อาจทำงานล่วงเวลา วันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุดตามความจำเป็นเร่งด่วน
โอกาสและความก้าวหน้าทางอาชีพ
ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ (Logistics Analyst) หรือ นักวิเคราะห์โลจิสติกส์ สามารถประกอบอาชีพเป็นพนักงานในองค์การระหว่างประเทศ เจ้าของธุรกิจส่วนตัว นักวิจัย นักวิชาการด้านการขนส่งการค้าในสถาบันต่างๆ อาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา นอกจากนี้นักวิเคราะห์ระบบโลจิสติกส์สามารถเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่และหน่วยงานที่ตนปฏิบัติได้เสมอ อาจจะเป็นนักวิเคราะห์ระบบ นักวิจัย และนักวางแผนทางระบบโลจิสติกส์
ภาพรวมความต้องการกำลังคนสำหรับระบบโลจิสติกส์ มีแนวโน้มความต้องการกำลังคนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดภายในประเทศ และตลาดการค้าระหว่างประเทศ ขณะเดียวกัน ในปัจจุบันการดำเนินธุรกิจของสถานประกอบการต่างๆ ต้องประสบกับการแข่งขันมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการดำเนินธุรกิจจึงต้องแสวงหาวิธีหรือกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานให้แก่สถานประกอบการ หรือเพื่อความอยู่รอดในธุรกิจ
นักวิเคราะห์โลจิสติกส์จึงเป็นอาชีพหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญและมีจำนวนบุคลากรค่อนข้างจำกัด ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการวิเคราะห์ และสนับสนุนการวางแผน และการควบคุมการไหลเวียนของกิจกรรมต่างๆ ของสถานประกอบการทั้งในด้านของการบริหารคลังสินค้า และการจัดส่งให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนในด้านการบริหารงาน อาชีพนี้จึงเป็นอาชีพที่มีความสำคัญและมีแนวโน้มของความต้องการสูงยิ่งขึ้นในอนาคต
ตัวอย่างมหาวิทยาลัยและคณะที่เปิดสอนด้าน Logistics
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมโลจิสติกส์
มหาวิทยาลัยบูรพา คณะโลจิสติกส์
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สำนักวิชาการจัดการ สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน
มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาวิชาวิศวกรรมการจัดการและโลจิสติกส์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะวิทยาการจัดการ บริหารธุรกิจ สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์
มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์
มหาวิทยาลัยเกริก คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์
มหาวิทยาลัยธนบุรี คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์
มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน