ปฏิเสธไม่ได้ว่าการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพนั้นเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ เหตุผลดังกล่าวทำให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC และการแข่งขันธุรกิจในยุคที่ไร้พรมแดน รวมถึงการขยายตัวของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ อันเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เกิดความต้องการด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
อุตสาหกรรมโลจิสติกส์สถานการณ์อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในไทยและในภูมิภาคอาเซียนช่วงปีที่ผ่านมานั้นมีอยู่ 3 เทรนด์ที่น่าจับตามอง
เทรนด์แรกคือ การสร้างความแตกต่าง (differentiation) ซึ่งเดิมบริษัทผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์นั้น มักจะให้บริการเพียงด้านเดียว เช่น ทำคลังสินค้าห้องเย็น หรือทำลานจอดรถยนต์ หรือทำคลังสินค้าทั่วไป แต่ปัจจุบันการแข่งขันสูงมากจนทำให้ผู้ประกอบการหันมาห้ำหั่นด้วยการแข่งขันด้านราคาจึงไม่สามารถบริหารผลตอบแทนได้ดีเท่าที่ควร ดังนั้นการสร้างความแตกต่างจึงเป็นทางออกที่ผู้ประกอบการโลจิสติกส์หลายรายพยายามปรับตัว เพื่อสร้างจุดเด่นด้านบริการเสริมและครบวงจรมากยิ่งขึ้น
เทรนด์ที่ 2 คือ การปรับตัวของธุรกิจโลจิสติกส์ให้สอดรับกับความต้องการของลูกค้า (consolidation)
ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการต้องพยายามเสริมการให้บริการส่วนต่างๆ ที่บริษัทยังไม่มี อย่างไรก็ตาม ถ้าจะต้องพัฒนาหรือลงทุนเองทั้งหมดจะต้องใช้เวลานานและใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ซึ่งอาจไม่ทันกับความต้องการของลูกค้า ดังนั้นการรวมตัวกันของบริษัทขนาดเล็กและใหญ่จึงเป็นปรากฏการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยอาจเป็นรูปแบบพันธมิตร การร่วมลงทุนหรือการควบรวมกิจการขึ้นอยู่กับขนาดของบริษัท
เทรนด์ที่ 3 คือ การใช้เทคโนโลยี
ในปัจจุบันการเติบโตของอี-คอมเมิร์ซ ถือว่ามีผลอย่างสูงต่อธุรกิจโลจิสติกส์โดยบริษัทต้องพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับโลจิสติกส์อี-คอมเมิร์ซที่จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวในอนาคต
นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดเก็บข้อมูล ติดตามข้อมูลหรือบริหารจัดการระบบต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเทคโนโลยีเป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้บริษัทผู้ให้บริการมีความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นความถูกต้องแม่นยำความสะดวกในการติดตามข้อมูลของลูกค้า ความปลอดภัยการช่วยประหยัดเวลา หรือลดการจ้างแรงงาน
ธุรกิจรับฝากและบริหารโลจิสติกส์ยานยนต์เป็นอีกกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตที่ดี แต่อัตราการเติบโตอาจจะไม่หวือหวาโดยบริษัทผู้ให้บริการต้องหาวิธีการเพิ่มบริการเสริมอื่นๆ ธุรกิจรับฝากและบริหารสินค้าอันตรายก็มีแนวโน้มเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปเช่นกัน
ส่วนธุรกิจขนส่งสินค้าในไทยและต่างประเทศนั้น ก็มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี เนื่องจากการเปิด AEC โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าไปยังประเทศเมียนมาและกัมพูชาที่มีอัตราเติบโตถึง 6-7% ต่อปีในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งการขนส่งแบบ B2B B2C และ C2C ที่เติบโตมากตามการขยายตัวของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ จึงส่งผลให้บริษัทผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ต้องพัฒนาเทคโนโลยีและระบบการขนส่งเพื่อรองรับกับความต้องการนี้
สำหรับการเติบโตของ GDP ในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 7-8% โดยประเทศกัมพูชาและเมียนมามีการเติบโตสูงสุด ทำให้ภาพรวมปริมาณความต้องการใช้บริการด้านโลจิสติกส์มีแนวโน้มสดใส แต่รูปแบบจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ อาทิ สปป.ลาว การเติบโตของ infrastructure เช่น การก่อสร้างถนนเขื่อน ระบบรางรถไฟ จะเป็นตัวผลักดันอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่รองรับเมกะโปรเจกต์เนื่องจากไม่ได้มีฐานการผลิตสินค้าเหมือนในบางประเทศ
ส่วนในประเทศกัมพูชาและเมียนมา ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออกมีการเติบโตที่ดี เป็นผลให้ภาคธุรกิจโลจิสติกส์ขยายตัว เนื่องจากในปัจจุบันมีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนใน 2 ประเทศนี้จำนวนมาก
ส่วนธุรกิจโลจิสติกส์ในเวียดนาม แม้ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการภาคเอกชนเข้าไปลงทุนมากมาย เนื่องจากเวียดนามมีความได้เปรียบในเชิงภูมิประเทศที่เอื้อต่อการลงทุนเพื่อใช้เป็นฐานการส่งออก และภาครัฐก็พร้อมสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศทั้งภาคการผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศ และภาคการผลิตเพื่อส่งออก จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของโลจิสติกส์ในเวียดนาม โดยเฉพาะการทำ distribution center หรือ nationwide distribution จะเป็นเทรนด์ที่ดีของเวียดนาม
ในด้านโอกาสของผู้ประกอบการไทยกับการแข่งขันในธุรกิจโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน หากสามารถนำจุดเด่น อาทิ การมี hard assets จำนวนมาก มีความรวดเร็วในการตัดสินใจ รวมถึงนำความเชี่ยวชาญในตลาดท้องถิ่นเข้ามาเสริมในสิ่งที่บริษัทโลจิสติกส์ข้ามชาติต้องการได้ก็จะสามารถต่อยอดธุรกิจ หรือเกิดรูปแบบการร่วมทุนใหม่ๆ เช่น การร่วมทุนของเอสซีจี กับ นิชิเร เพื่อบุกเบิกตลาดคลังสินค้าห้องเย็น หรือ การร่วมทุนของ เอสซีจีกับ ยามาโตะ ที่ต้องการบุกเบิกตลาดขนส่งแบบ express สำหรับ B2C และ C2C ที่ต่างฝ่ายต่างเติมเต็มสิ่งที่ขาด เพื่อทำให้เกิดความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ การนำระบบไอทีและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการเพื่อเพิประสิทธิภาพการให้บริการดีขึ้นโดยเฉพาะการทดแทนแรงงาน เช่น การบริหารคลังสินค้าที่สามารถใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาบริหารจัดการเพื่อลดจำนวนพนักงานลง ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาด้านการขาดแคลนบุคลากรด้านโลจิสติกส์ และลดต้นทุนค่าแรง ดังนั้น บริษัทโลจิสติกส์ขนาดกลางและขนาดใหญ่ควรจะมี innovation center เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์หรือนวัตกรรมต่างๆ ที่ตอบโจทย์ธุรกิจเฉพาะของตนเองและเพื่อลดการพึ่งพาแรงงานในอนาคตอีกทั้งสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งด้วย
ข้อมูลจาก :
www.forbesthailand.com