“ โลจิสติกส์ คือ กระบวนการในการวางแผน ดำเนินการ และควบคุมประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการไหล การจัดเก็บวัตถุดิบ สินค้าคงคลังในกระบวนการ สินค้าสำเร็จรูป และสารสนเทศที่เกี่ยวข้องจากจุดเริ่มต้นไปยังจุดที่มีการใช้งาน โดยมีเป้าหมายเพื่อสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ”
ประเทศไทยในปัจจุบันต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันจากทั้งตลาดภายใน และภายนอกประเทศอันเป็นผลมาจากการพัฒนาความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงความต้องการของลูกค้าที่มากขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และประเทศไทยยังคงประสบกับปัญหาการขาดประสิทธิภาพของระบบการดำเนินงานในส่วนต่างๆ ทำให้การจัดส่งสินค้าและบริการไปถึงมือลูกค้าเป็นไปอย่างล่าช้า และไม่สามารถตอบสนองความต้องการ ของลูกค้าได้อย่างเต็มที่
ดังนั้น เพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว ธุรกิจในประเทศไทยจึงต้องการแนวทางใหม่ ในการบริหารงานเพื่อให้สามารถที่จะจัดหาทรัพยากร ที่เป็นองค์ประกอบทางการดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อการใช้งาน รวมทั้งสามารถกระจายสินค้าไปถึงมือลูกค้าให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจนั้นสามารถดำรงอยู่ได้
เทคโนโลยี
Connected GPS, Logistics Cloud และ Big Data กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมการขนส่งทางถนนครั้งสำคัญ โดยเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยแก้ไขปัญหาดั้งเดิมในการขนส่ง เช่น ความปลอดภัย การตรงต่อเวลา แต่ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการ โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์และการวางแผนการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต
EIC คาดว่า ตลาดเทคโนโลยี Connected GPS ในไทยจะมีมูลค่ากว่า 1.3 หมื่นล้านบาท และตลาด Logistics Cloud จะมีมูลค่าราว 5 พันล้านบาท จากความต้องการของผู้ประกอบการที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและจากนโยบายของภาครัฐ อีกทั้งตลาดยังมีแนวโน้มเติบโตราว 6% ต่อปี ตามจำนวนรถขนส่งสินค้าและการซื้ออุปกรณ์ใหม่จากการที่เทคโนโลยีเก่าเริ่มล้าหลัง จึงเป็นโอกาสสำคัญให้ผู้จัดจำหน่ายและผู้ให้บริการเทคโนโลยีในการขยายธุรกิจ
ผู้ประกอบการขนส่งไทยมีแนวโน้มที่จะนำเทคโนโลยี Connected GPS, Logistics Cloud และ Big Data analysis มาใช้เพื่อเสริมประสิทธิภาพการขนส่ง โดยเมื่อพิจารณาถึงปัจจัยผลักดัน 3 ประการ ได้แก่ ประโยชน์ ความซับซ้อนของเทคโนโลยี และการยอมรับจากผู้ใช้งาน พบว่า เทคโนโลยีทั้ง 3 ประเภท สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการไทยได้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน อีกทั้งเทคโนโลยีเหล่านี้ยังเสริมความสามารถซึ่งกันและกัน
ในระยะเริ่มต้น Connected GPS จะมีบทบาทช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถติดตามข้อมูลการขนส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็ว โดย Connected GPS เป็นนวัตกรรมที่ได้รับอานิสงส์จากความเร็วในการส่งข้อมูลที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการสามารถจับตาดูรถขนส่งได้แบบ real-time ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาที่สะสมมานานในอุตสาหกรรม เช่น การขับออกนอกเส้นทาง การใช้ความเร็วเกินกำหนด หรือแม้กระทั่งการเบิกค่าน้ำมันเกินอัตรา
จากกรณีศึกษาของบริษัท DHL ประเทศไทย พบว่า การติดตั้ง Connected GPS ทำให้บริษัทสามารถลดการใช้เชื้อเพลิงได้เกือบ 40% อีกทั้งเทคโนโลยี Connected GPS นั้นมีความซับซ้อนไม่มากนัก มีเพียงอุปกรณ์ส่งสัญญาณและการแสดงผลเท่านั้น จึงทำให้ผู้ประกอบการและคนขับสามารถปรับใช้เทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ จากประโยชน์ข้างต้น กรมการขนส่งทางบกจึงได้ออกกฎข้อบังคับให้รถบรรทุกและรถโดยสารสาธารณะทุกคันต้องติดตั้งระบบ Connected GPS ภายในปี 2019 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนสำคัญในการเร่งใช้เทคโนโลยีดังกล่าวอีกด้วย
ที่มา :
thaipublica.org