ถามว่างานในปัจจุบัน อาชีพไหนดี? สายงานไหนน่าทำ? เราก็คงจะพอรู้คำตอบได้ไม่ยาก แต่ถ้าถามใหม่ว่าในอนาคตอีก 5-10 ปีจากนี้ งานอะไรจะยังเป็นดาวรุ่ง? เป็นสายงานที่ตลาดยังคงต้องการอย่างต่อเนื่อง?
สำหรับน้องๆ คนไหนที่กำลังมองหาโอกาสงานสำหรับอนาคตหลังจากเราเรียนจบ เพื่อจะได้เตรียมตัวเรียนในสายงานที่ตอบโจทย์อนาคตได้ บทความนี้เรามีข้อมูลน่าสนใจจากอเด็คโก้ประเทศไทย (adecco) มาฝากกัน
อเด็คโก้เปิดเผยข้อมูลวิจัยจาก Citi Research เกี่ยวกับสายอาชีพแห่งอนาคตเปรียบเทียบกับแนวโน้มตลาดแรงงานในประเทศไทย สามารถสรุปออกมาเป็น
3 สายอาชีพอนาคตรุ่งยาวจนถึงปี 2025 ได้แก่ สายเทคโนโลยีและดิจิทัล (IT & Digital) สายวิศวกรรมและหุ่นยนต์ (Engineering & Robotics) สายสุขภาพและสาธารณสุข (Healthcare / Personal Care) ซึ่งรายละเอียดของแต่ละสายงาน มีดังนี้
สายเทคโนโลยีและดิจิทัล (IT & Digital)
เมื่อโลกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ไม่ว่ากิจกรรมอะไรก็เป็นออนไลน์ ทั้งการท่องเที่ยว ซื้อของ เข้าธนาคาร หลายธุรกิจและบริการมีการนำ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาใช้กันมากขึ้น แน่นอนว่าสายอาชีพด้านเทคโนโลยี ทั้งที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต online BigData และ AI ย่อมเป็นที่ต้องการของแรงงานตลาด และมีแนวโน้มที่จะพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ
อย่างเช่นอาชีพโปรแกรมเมอร์ (Programmer) นักพัฒนาซอฟต์แวร์ (Software Developer) นักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analyst) นักวางระบบความปลอดภัย (Cyber Security Expert) ผู้เชี่ยวชาญด้านฐานข้อมูล (Database Specialist) นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) นักวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์ (Computer Systems Analyst) นักการตลาดดิจิทัล และ E-commerce (Digital & E-commerce Marketer) เป็นต้น
สายวิศวกรรมและหุ่นยนต์ (Engineering & Robotics)
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ยังคงส่งผลต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีฐานการผลิตขนาดใหญ่ ที่มีแนวโน้มการใช้วิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพในการผลิตมากขึ้น และที่สำคัญคือมาทดแทนภาวะขาดแคลนแรงงานและเพิ่มนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจึงส่งผลให้อาชีพทางด้านวิศวกรเติบโตและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะในสาขาวิศวกรรมนวัตกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Innovation Engineering) วิศวกรรมพลังงานและไฟฟ้า (Energy & Electrical Engineering) วิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ (AI & Robotics Engineering) วิศวกรระบบอัตโนมัติ วิศวกรรมระบบราง วิศวกรรมอากาศยาน โดยวิศวกรเหล่านี้ จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเมืองและคุณภาพชีวิตของคนยุคใหม่ รวมทั้งสร้างระบบคอมพิวเตอร์ที่สนองตอบการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม อย่างเช่น การพัฒนาระบบอัตโนมัติและเครื่องจักรในโรงงาน การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า-รถยนต์ไร้คนขับ เป็นต้น
สายสุขภาพและสาธารณสุข (Healthcare/Personal Care)
โลกในปัจจุบันหลายประเทศได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ หรือ UN ได้เผยว่า ในปี 2100 จะมีประชากรโลกกว่า 30% ที่มีอายุเกิน 60 ปี แต่แม้ว่าตัวเลขอายุไขเฉลี่ย (Life expectancy) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการแพทย์
ขณะเดียวกันก็มีผู้ป่วยจากโรคที่จำเป็นต้องเข้าถึงบริการทางการแพทย์จำนวนมากเช่นกัน ส่งผลให้ความต้องการบุคลากรทางด้านนี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งอาชีพหมอและพยาบาล รวมถึงอาชีพใหม่ ๆ อย่าง นักชีวสารสนเทศศาสตร์ (Bioinformatics Technician) นักรังสีวิทยาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Nuclear Medicine Technician) ช่างซ่อมเครื่องมือแพทย์ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ให้คำแนะนำด้านสุขภาพ และครูฝึกส่วนตัว (Personal Trainer) ก็จะเป็นอาชีพที่ตลาดมีความต้องการสูงทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ที่มา :
adecco.co.th