ทุกๆวันมีคน 30 ล้านคนพรีเซนต์งาน แต่กว่า 50% เป็นพรีเซนต์น่าเบื่อ และขาดความพร้อม ทั้งๆที่ทักษะการนำเสนอ หรือการพรีเซนต์งานนั้น เป็นทักษะที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะใช้ในการเรียน หรือการทำงาน ในยุคนี้ที่นักลงทุนต่างกำลังมองหา startup เพื่อช่วยสนับสนุนสานฝันให้ไปถึงดวงดาว มีคนจำนวนมากเดินเข้าสู่สนามประลองของการ pitching และคว้าน้ำเหลวกลับไป ถึงแม้งานจะน่าสนใจ แต่หากเราไม่สามารถเล่าเรื่องที่เราทำให้ผู้คนฟังได้อย่างตรงประเด็น โอกาสที่คนจะสนใจและช่วยเหลือก็อาจจะหลุดลอยไป วันนี้เราเลยหยิบเครื่องมือชื่อว่า Pitch Planner ที่จะช่วยให้คนพูดไม่เก่งลุกขึ้นมาพรีเซนต์งานได้อย่างลื่นไหลและเป็นระบบมากขึ้น
ความไม่พร้อมในการนำเสนอที่ว่านั้น มีด้วยกันหลายรูปแบบ ที่ทำให้การนำเสนอของเรานั้นไม่น่าประทับใจ เช่น
1. ท่องจำเป็นนกแก้วนกขุนทอง คนชอบฟังเรื่องเล่าที่มีเส้นเรื่อง มีชีวิตชีวา ไม่ใช่บทท่องจำน้ำเสียงราบเรียบ ที่คนพูดต้องก้มอ่านโน้ตทุกๆ 10 วินาที เพราะความกังวลว่าการพรีเซนต์จะไม่ perfect จนลืมไปว่าท่าทาง น้ำเสียงของเรานั้น ส่งผลต่อผู้ฟังมากกว่าเนื้อหาเสียอีก
2. อัดข้อมูลแน่น อาการรักพี่เสียดายน้อง อยากใส่ข้อมูลทุกอย่าง ปริมาณแน่น แต่ลืมคิดถึงคุณภาพไป ลองเปลี่ยนมาใช้กฎนับ 3 คือ หัวข้อหลักมี 3 ข้อ หัวข้อย่อยมี 3 ข้อ สรุปมี 3 ข้อ
3. เข้าใจคนฟังไม่มากพอ คนส่วนมากไม่ชอบทำการบ้าน ไม่ค้นหาข้อมูลคนฟัง ต้องท่องไว้ว่าพรีเซนต์งานก็เหมือนจีบสาว ถ้าไม่รู้ว่าเขาชอบฟังอะไร จะหยอดคำหวานตรงความต้องการได้ยังไงกัน สละเวลาก่อนปั่นพรีเซนต์ หาข้อมูลคนฟังให้ครบถ้วน
Pitch Planner ตัวช่วยร่างสคริปท์สำหรับการพรีเซนต์ แบ่งตารางการพรีเซนต์เป็น 3 ช่อง 4 หัวข้อหลัก
ด้านซ้ายมือสุด เน้นทำความเข้าใจผู้ฟัง
ก่อนจะเริ่มต้นลงมือทำสไลด์พรีเซนต์ ต้องรู้จักคนฟังกันก่อนว่าคนฟังคือใคร มี background ยังไง ค้นหาความต้องการของคนฟัง สิ่งที่เขาชอบ-ไม่ชอบ จะได้คัดสรรเฉพาะเนื้อหาที่คนฟังอยากได้ยิน
1. Them ทำความเข้าใจผู้ฟังว่าเขาคือใครกันแน่
2. Their Need ค้นหาความต้องการของผู้ฟัง
3. Their objective วัตถุประสงค์ของผู้ฟัง คาดเดาความมุ่งหมายของผู้ฟังให้ออก
4. Their reservation ข้อจำกัดของผู้ฟังมีอะไรบ้าง หลีกเลี่ยงไม่พูดประเด็นอ่อนไหว
ตรงกลาง เข้าใจบริบทและเนื้อหา
วิเคราะห์ดูว่าสถานการณ์รอบๆ เป็นอย่างไรบ้าง หัวข้อที่จะพูดมีเรื่องไหนควรเน้น เรื่องไหนควรตัด
1. Context สถานการณ์ปัจจุบัน เงื่อนไข บริบทแวดล้อม วิเคราะห์กันดูว่า เวทีที่ขึ้นพรีเซนต์เป็นการคุยกันแบบตัวต่อตัวเพื่อเสนอขายสินค้า แข่งขันประกวดแผนธุรกิจ หรือ พรีเซนต์งานในห้องประชุม แต่ละสถานการณ์ควรมีเนื้อหา และวิธีการที่แตกต่างกันออกไป
2. Content เนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญ ลิสต์เนื้อหาหลักๆ ที่ลืมพูดไม่ได้
ด้านซ้าย ทำความเข้าใจตัวเอง
เช็คความพร้อมของตัวเองและทีมกันก่อน บางทีข้อมูลในหัวเราเยอะ ไม่รู้จะเลือกเนื้อหาส่วนไหนมาพูดดี นั่งทบทวนดูว่าจุดมุ่งหมายของการพูดครั้งนี้คืออะไร เราต้องการอะไรจากการพูดครั้งนี้บ้าง จะได้คัดสรรเนื้อหาตอบโจทย์ตัวเอง
1. You อย่าลืมแนะนำตัวเองและทีมเด็ดขาด ประสบการณ์ ทักษะ ความเชี่ยวชาญ ความสนใจ แรงบันดาลใจ หลายครั้งนักลงทุนเลือกลงทุนเพราะความพร้อมของทีม
2. Your key message ใจความสำคัญ ข้อความฮุคของเรา ลองคิดประโยคสวยๆที่จับใจคนฟัง เพลงจะฮิตหรือจะแป้กขึ้นอยู่กับท่อนฮุค พรีเซนต์ก็เหมือนกัน
3. Your objective จุดมุ่งหมายของการพรีเซนต์คืออะไร อย่าลืมตั้งเป้าหมายให้ตัวเอง
4. Call to action พูดมายืดยาว หลายคนตกม้าตายลืมบอกว่าต้องการอะไรจากผู้ฟัง เราควรบอกความต้องการของเราแบบชัดเจนไปเลยไม่ต้องอ้อมค้อม เพราะนี่คือสิ่งที่คนรอฟัง ว่าเราต้องการระดมทุนเท่าไหร่แลกกับหุ้นเท่าไหร่ อยากของบประมาณเท่าไหร่ ต้องการอาสาสมัครกี่คน
เรามาดูตัวอย่างการพรีเซ็นต์ของ Steve Jobs กัน
ที่มา schoolofchangemakers