“อะไรนะ ไปช้อปปิ้ง? ชั้นจำไม่ได้หรอกนะว่ามันหมายถึงอะไร มันเอาท์ไปนานแล้วปะ” นี่คือสิ่งที่ Ida Auken สมาชิกรัฐเดนมาร์ก และสมาชิก Global Future Councils ของ World Economic Forum พูดถึงความน่าจะเป็นของโลกในปี 2030 สำหรับเธอเมื่อถึงตอนนั้นกิจกรรมการช้อปปิ้งได้ตายจากโลกนี้ไปนานแล้ว
ลองนึกภาพตามเธอดู โลกในปี 2030 “การซื้อ” จะถูกแทนที่ด้วย “การยืม” สินค้าแทบทั้งหมด จะกลายเป็นบริการ แทบไม่มีใครเป็นเจ้าของอะไรเพราะทุกอย่างไม่ว่าจะบ้าน รถ ข้าวของเครื่องใช้ สามารถเช่าเอาได้หมด ในโลกที่ Sharing Economy กลายเป็นวิถีหลัก ยิ่งไปกว่านั้น “การช้อปปิ้ง” จะกลายเป็นเรื่องอดีต เป็นกิจกรรมที่ไม่มีความจำเป็นและถ้าจะทำก็ทำเพื่อความบันเทิงเท่านั้น เพราะในปี 2030 AI ทำหน้าที่ชอปปิ้งของจำเป็นให้เราแต่ละคนโดยเฉพาะอยู่แล้ว แถมมันยังรู้จักรสนิยมของเราดีกว่าตัวเราเองอีก
โลกในปี 2030 ในแบบของ Ida Auken อาจจะดูแปลกประหลาดไปซักหน่อย แต่ถ้าการช็อปปิ้งนั้นหมายถึงการออกไปเลือก ลอง เปรียบเทียบ และตัดสินใจซื้อของที่เราอยากได้ด้วยตัวเองจากตัวเลือกที่มากมายทั้งในร้านค้าและโลกออนไลน์แล้ว เอาเข้าจริงคำว่า “ช็อปปิ้ง” อาจจะกำลังตายจากเราไปจริงๆก็ได้ เพราะเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทันสมัยแล้วรองรับการใช้งานได้หลายรูปแบบมากขึ้นที่ถูกนำมาใช้ในวงการค้าปลีก กำลังทำให้วิถีการซื้อและการขายนั้นเปลี่ยนแปลงไป โดยที่เราอาจจะยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
ทฤษฎีการบริโภคจะถูกลบไป
ต้นปีที่แล้ว Werner Reinartz ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าปลีก แห่ง University of Cologne ได้เขียนบทความลงใน Harvard Business Review พูดถึงอนาคตของวงการค้าปลีกว่าปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกโดยทั่วไปไม่ว่าจะระดับห้างใหญ่ ร้านแบรนด์ดัง ร้านค้าท้องถิ่น ร้านสะดวกซื้อ หรือร้านออนไลน์ ยังติดอยู่กับโมเดลการบริโภคแบบเก่าที่มองว่าการบริโภคนั้นต้องประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอน คือ อยากได้ ซื้อ และ ใช้ และเชื่อว่าทั้งสามขั้นตอนแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง
ที่มาผ่านธุรกิจค้าปลีกไม่ว่าเล็กหรือใหญ่วางตัวเองเป็นเสมือนจุดศูนย์กลางที่ผู้บริโภคจะได้เจอกับสินค้าและบริการ พวกเขาจึงให้ความสำคัญกับขั้นตอน ซื้อ และพยายามทำทุกอย่างเพื่อเรียกลูกค้าให้มาซื้อและปิดการขายให้อยู่หมัด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบรรยากาศในร้านให้น่าสนใจ จัดโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมต่างๆ
แต่พอมาวันนี้มันกลับทำไม่ได้แล้ว การที่จะประสบความสำเร็จในธุรกิจการค้าปลีกด้วยการโฟกัสไปที่ประสบการณ์ในการซื้อของลูกค้ามันไม่พออีกต่อไป เพราะเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ถูกเอามาใช้ในธุรกิจค้าปลีกทำให้ขั้น อยาก กับ ซื้อ ใกล้กันมากจนแทบจะเกิดขึ้นพร้อมกัน ผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อได้ทันทีที่ได้อยากได้สินค้า และสิ่งที่ธุรกิจค้าปลีกต้องให้สำคัญมากที่สุดคือ ความอยาก ของผู้บริโภค
Reinartz บอกว่ารูปธรรมชัดๆ ของการเปลี่ยนแปลงนี้ คือการซื้อ 3 รูปแบบ นั้นก็คือ
1. ซื้อโดยทันที (Instant purchasing) อยากได้ปุ๊ปก็ซื้อได้ปั๊บโดยไม่ต้องไปถึงร้าน ไม่ว่ามันจะเป็นร้านจริงๆ หรือร้านออนไลน์ก็ตาม
2. การซื้อแบบอัตโนมัติ (Automated purchasing) ซื้อเลยอัตโนมัติโดยไม่ต้องบอก เดียวนี้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อัจฉริยะ หรือ Intelligent product มากมาย เช่นเครื่องซักผ้าของ Whirlpool ที่สั่งซื้อผงซักฟอกให้ใหม่ได้เองเมื่อใกล้หมด ผลิตภัณฑ์แบบนี้ถูกพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีวงจรการซื้อเร็ว
3. ซื้อบนฐานการเป็นสมาชิก (Subscription-based purchasing) มีแพลตฟอร์มต่างๆ มากมายให้บริการ เช่น Spotify (เพลง) Netflix (ภาพยนตร์ ซีรีส์) หรือ ในต่างประเทศ เช่น Zipcar (รถยนต์และการเดินทาง) Blue Apron (ของชำและอาหาร) เป็นต้น ที่สมาชิกสามารถเลือกดูเลือกสินค้าบริการได้เลยไม่ต้องไปหาซื้อที่อื่น และบางที่คุณก็สามารถสมัครรับสินค้าบริการที่คัดเลือกมาให้คุณได้เลยสุดท้ายการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้วิธีการ ช้อปปิ้ง แบบเดิมๆ ที่เรารู้จักลดลงไปเยอะ เราแทบไม่ต้องออกจากบ้านหรือหาเว็บไซต์ทีละเว็บเพื่อซื้อของที่อยากได้
แต่นี่ยังแค่เบาๆ เพราะของจริงๆ คือเมื่อธุรกิจค้าปลีกต้องปรับตัวมาโฟกัสที่ขั้นความ อยาก ของผู้บริโภคแทนแล้ว แล้วสิ่งที่ตามมาอาจทำให้คำว่า ช้อปปิ้ง ที่เรารู้จักหายไปจริงๆ
ตัวอย่าง Automated purchasing
ที่มา thematter