หน้าแรก IT ข่าว/บทความไอที

ความเป็นไปได้ของ บล็อกเชนในปี 2017 กับ 10 คำถามที่คุณสงสัย

วันที่เวลาโพส 18 มกราคม 60 17:12 น.
อ่านแล้ว 0
ทีมงาน AdmissionPremium
UploadImage
 
            บล็อกเชนเปรียบเสมือนเครือข่ายการเก็บข้อมูลแบบหนึ่ง ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและได้รับข้อมูลเดียวกัน เราจึงรู้ว่าใครมีสิทธิและเป็นเจ้าของข้อมูลเหล่านี้จริงๆ โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บอยู่ในแต่ละบล็อก (Block) ที่เชื่อมโยงกันบนเครือข่ายเหมือนกับห่วงโซ่ (Chain) นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้เราเรียกรูปแบบการเก็บและแชร์ข้อมูลแบบนี้ว่า Blockchain 

นอกจากนี้ เมื่อธุรกรรมต่างๆ ถูกบันทึกในบล็อกเหล่านี้แล้ว เราจะไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลใดๆได้เพราะทุกคนต่างก็มีสำเนาหรือประวัติการทำธุรกรรมทั้งหมดอยู่กับตัว จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยที่ใครจะมาปลอมแปลงข้อมูลโดยปราศจากการรับรู้จากผู้คนส่วนใหญ่

 

 
เพื่อตอบคำถามข้างต้น  เราจะเน้นในบางจุดควบคู่กับการแบ่งหัวข้อออกเป็นสองมิติหลักๆ คือเชิงแนวคิดและเชิงกลวิธี

1. เราอยู่ตรงไหนของวงจร ?

ลองเลือกทฤษฎีวงจรที่คุณชอบมาครับ  จะวงจร Hype Cycle ของ Gartner ทฤษฎีการพัฒนาทางเศรษฐกิจของ Carlota Perez หรือจะทฤษฎีการก้าวข้ามจุดเปลี่ยนผ่านจากหนังสือ Crossing the Chasm ของ Geoffrey Moore ก็ได้  ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเรากำลังอยู่ในช่วงปีเริ่มต้น ของทุกวงจรที่กล่าวมานี้  แต่ว่ามันตรงไหนกันแน่ล่ะ?

เมื่อไหร่บล็อกเชนจะเริ่มเข้ามามีบทบาทในแง่ของผู้ใช้ ความหลากหลายในการใช้งาน เสถียรภาพ และรูปแบบการเจริญเติบโตที่คาดเดาได้ จากมุมมองของผม เรายังไม่ก้าวข้ามจุดเปลี่ยนผ่านครับ ยังไม่ถึงช่วงที่เทคโนโลยีถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวาง ยังไม่ผ่านจุดสูงสุดของความคาดหวังอันฟุ้งเฟ้อด้วยซ้ำ ถ้าจะพูดให้ชัดเจนขึ้นคือตัวเราอยู่ตรงไหนกันแน่นั้นมองเห็นได้แค่จากกระจกมองหลัง เมื่อเรามีโอกาสมองย้อนกลับไปเท่านั้น  ระหว่างนั้นเราก็ยังคงต้องกรุยทาง ฝ่าฟันอุปสรรค และลุกขึ้นยืนให้ได้ทุกครั้งที่ล้มกันต่อไป
 
2. ต้องมีจุดแตกหักที่ชัดเจนเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนะความคาดหวังหรือไม่ ?

ถ้าอินเทอร์เน็ตคือต้นเค้าแห่งประวัติศาสตร์ของบล็อกเชน  ปี 2000 ก็นับเป็นช่วงเวลาที่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมากเพราะมันลบล้างความเชื่อปลอมๆ ของคนออกไป  ปรับทัศนะความคาดหวัง และเปิดโอกาสให้คนที่ใจนิ่งกว่าเข้ามามีบทบาทในวาระใหม่และการเริ่มต้นใหม่หลังการเปลี่ยนแปลง
อินเทอร์เน็ตยุคใหม่ถูกขนานนามว่า Web 2.0 และเริ่มปรากฏโฉมราวปี 2003 นำมาซึ่งความรุ่งเรืองและการเติบโตอย่างยั่งยืนจนถึงปัจจุบันของระบบเว็บนับตั้งแต่บัดนั้น เมื่อมองย้อนกลับไป  นั่นคือราว 7 ปีให้หลัง หลังจากที่ระบบเว็บเริ่มปรากฏโฉมครั้งแรกในปี 1993

สำหรับบล็อกเชนบางคนเริ่มใช้ชื่อที่เรียกว่า Crypto 2.0 กันแล้ว ทว่านั่นน่าจะเป็นชื่อเล่นที่เร็วเกินไปสำหรับช่วงชีวิตของบล็อกเชนที่เราอยู่กันในขณะนี้
ผมมั่นใจเหลือเกินว่าเรายังอยู่กันในช่วงแสวงหาประโยชน์จากยุค Blockchain 1.0 หรืออะไรทำนองนั้น ถึงแม้วิวัฒการของมันจะมีความต่างจากเว็บอยู่เล็กน้อย  บางทีคงมีแค่จุดแตกหักที่แท้จริงเท่านั้น ที่จะเขย่าวงการได้แรงพอและทำให้ประตูที่เปิดสู่ยุค Blockchain 2.0 กลายเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้
 
3. ขอบเขตของบล็อกเชนอยู่ตรงไหน ?

เรารู้กันหรือยังว่าบล็อกเชนสามารถนำไปใช้ตรงไหนได้และตรงไหนไม่ได้ อะไรจะทำได้จริงและอะไรบ้างที่ไม่มีวันเป็นไปได้ คำตอบคือเราไม่มีทางรู้แน่ชัดนอกจากจะต้องผลักดันกันต่อไป ต้องพยายามก้าวข้ามขีดจำกัดเพื่อหาคำตอบว่าขอบเขตที่แท้จริงแล้วอยู่ตรงไหนผมเห็นหลายกรณีที่มีการคิดนำบล็อกเชนเข้ามาใช้ แต่ดูเหมือนมันจะเป็นคำตอบที่รอเก้อ เมื่อแท้จริงแล้วคำถามไม่ได้อยู่ตรงนั้น

ยกตัวอย่างเช่นในแวดวงสุขภาพซึ่งถูกมองว่าเหมาะกับการนำบล็อกเชนเข้ามาใช้มากที่สุด ทว่าเรากลับยังไม่เคยเห็นความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมหรือการนำบล็อกเชนมาประยุกต์ใดๆ เลย พูดให้เจาะจงขึ้นไปอีกคือผมได้ยินบ่อยๆ ว่าบล็อกเชนจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องการถ่ายโอนข้อมูล ประวัติการรักษาของผู้ป่วย แต่ประเด็นเล็กๆ ที่หลายฝ่ายตระหนักดีก็คือการแก้ปัญหาประวัติการรักษาที่ว่า ยังมีประเด็นซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับบล็อกเชนที่ต้องถูกสะสางก่อนรออยู่
 
4. บล็อกเชนจะมีผลกระทบต่อองค์กรธุรกิจหรือไม่ ?

องค์กรอัตโนมัติกระจายศูนย์หรือ DAOs  (Decentralized Autonomous Organizations) ทำให้หัวคิดแบบสมัยเก่าของเราเกิดคำถามเกี่ยวกับการบริหารองค์กรขึ้น แต่เรายังไม่อาจรู้ได้ว่าแนวคิดระยะเริ่มแรกเหล่านี้จะสามารถแทรกซึมเข้าไปสู่องค์กรแบบดั้งเดิมใดๆได้หรือไม่  หรือพวกมันจะอยู่แค่ในขอบเขตธุรกิจที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชนเป็นหลักเท่านั้น

แนวคิดขององค์กรกระจายศูนย์ที่ผูกกับเทคโนโลยีบล็อกเชนจะมีอิทธิพลกับการจัดการธุรกิจหรือไม่ ที่ระดับใด จริงอยู่ที่เรายังคงไม่เห็นภาพระบบบริหารจัดการด้วยบล็อกเชนแบบเบ็ดเสร็จ แต่เราต้องการตัวอย่างในยุคเริ่มแรกเหล่านี้เพื่อเป็นต้นแบบว่าธุรกิจควรมีการดำเนินการอย่างไร ระบบบริหารจัดการอัตโนมัติกับการดำเนินงานอัตโนมัติเป็นคนละเรื่องกัน  แต่ในทั้งสองกรณี เราต่างต้องการประสบการณ์ที่มากขึ้นในการสร้างต้นแบบและดำเนินงานทั้งสองระบบควบคู่กันไป จนกว่าจะหาคำตอบที่ชัดเจนได้ว่าองค์กรธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด
 
5. บล็อกเชนจะมีบทบาทช่วยส่งเสริม GDP อย่างไร ?

เรายังไม่อาจรู้ครับ ในเชิงเปรียบเทียบ  ในประเทศที่พัฒนาแล้วเศรษฐกิจบนอินเทอร์เน็ตช่วยส่งเสริม GDP ของชาติได้ตั้งแต่ 5-12 เปอร์เซ็นต์  และนั่นคือความสำเร็จภายหลังระบบเว็บเกิดขึ้นแล้วถึง 23 ปี

จริงอยู่บริษัทที่ดำเนินงานด้วยสกุลเงินดิจิทัลได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว แต่จะเป็นอย่างไรถ้าพูดถึงผลกระทบรวมในแง่การสร้างความมั่งคั่งจริงให้กับประเทศ ระบบอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ  เรารู้ว่ามูลค่ารวมของสกุลเงินดิจิทัลที่ลอยอยู่ในท้องตลาดจะอยู่ที่คร่าวๆ ประมาณ 15,000 ล้านเหรียญเมื่อจบปี 2016 แต่นั่นก็เป็นแค่มาตรวัดในเชิงปริมาณที่สัมพันธ์กับการสร้างความมั่งคั่งเท่านั้นเศรษฐกิจในเชิงดิจิทัลนี้จะดำเนินรอยตามเศรษฐกิจระบบเว็บ ด้วยการกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่สร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจใหญ่ได้หรือไม่?  ผมเองก็หวังเป็นอย่างยิ่งครับ แต่ตอนนี้เรายังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นของวิวัฒนาการเท่านั้น
 
6. อัตลักษณ์บนบล็อกเชนดูแล้วมีอนาคตหรือไม่ ?

คนเราจะมีกี่อัตลักษณ์บนบล็อกเชนนับว่าเป็นคำถามที่น่าสนใจ  หนึ่งในคำตอบที่ดูเป็นไปได้คือ เราจะมีอัตลักษณ์บนบล็อกเชนเทียบเท่ากับจำนวนการ์ดที่อยู่ในกระเป๋าสตางค์จริงๆ  บวกกับจำนวนอัตลักษณ์ออนไลน์ที่เคยสร้างขึ้นทั้งหมด ทั้งนี้เพราะว่าอัตลักษณ์บนบล็อกเชนคือการนำอัตลักษณ์ในโลกจริงเข้ามาสู่โลกออนไลน์ เพื่อความเป็นไปได้ในการผสานปัจจัยความน่าเชื่อถือระหว่างสองขอบเขตกึ่งเสมือนจริงนี้

อัตลักษณ์บนบล็อกเชนเป็นเหมือนคำมั่นสัญญาซึ่งทำให้เราสามารถบริโภคบริการที่หลากหลายบนพื้นฐานที่สามารถเชื่อถือได้  โดยที่เราไม่จำเป็นต้องแสดงตัวตนทางกายภาพ อย่างเช่นการออกเสียงเลือกตั้งทางไกล เป็นต้น

แอปพลิเคชันอะไรจะเป็นไม้ตายสำหรับอัตลักษณ์บนบล็อกเชน: แอปเลือกตั้ง แลกเปลี่ยน โซเชียลเน็ตเวิร์ค ร้านค้าออนไลน์ แอปบริการผู้บริโภค หรือว่าอื่นๆ สุดท้ายแล้วเราจะมีอัตลักษณ์มากมายหรือเพียงแค่หยิบมือ การเชื่อมโยงตัวตนเหล่านี้จะเป็นแค่สายใยที่เพ้อฝันหรือว่ามันจะมีคุณค่าขึ้นมาจริงๆ
 
7. เราสามารถทำกฎหมายให้เป็นรูปแบบของโค้ดได้หรือไม่ ?

มีความคาดหวังที่สูงมากเกี่ยวกับระบบสัญญาอัจฉริยะบนบล็อกเชน  คู่สัญญาจะสามารถจ่ายเงิน เปลี่ยนแปลงเงื่อนไข และประกาศการตัดสินใจได้จริงหรือไม่  บางทีอาจง่ายกว่าที่จะทำกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันให้กลายเป็นรูปของโค้ดและเราควรจะเริ่มจากตรงนั้น  แทนที่จะร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ แถมพยายามเขียนให้กลายเป็นโค้ดทั้งที่มันยังไม่ได้รับการรับรอง

สัญญาอัจฉริยะจะสามารถควบคุมการดำเนินงาน การตัดสินใจ ผู้ถือหุ้น รวมถึงทิศทางในอนาคตของบริษัทได้หรือไม่  เราต้องระมัดระวังและไม่เร่งรัดในการนำมันมาใช้ ตราบใดที่ยังไม่เข้าใจถึงนัยแฝงของข้อบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นได้โดยสมบูรณ์

จากกรณี การพุ่งทะยานและดิ่งลงเหวของ DAO ที่ถูกกล่าวถึงอย่างหนาหู มีการใส่ระบบอัตโนมัติลงในสัญญาอัจฉริยะซึ่งเปรียบเสมือนลูกนกที่เพิ่งหัดบินมากจนเกินไป ผลคือระบบดำเนินการกลับตาลปัตรแบบที่ไม่สามารถหยุดยั้งได้ด้วยมือมนุษย์ (ยกเว้นด้วยการใช้ hard fork)
ความเป็นอัตโนมัติดูเหมือนจะเป็นเป้าหมายอันดื้อรั้นของ DAO เหล่าวิศวกรผู้แสนกระตือรือร้นทั้งหลายต้องการจะใส่พลังลงไปในสัญญาอัจฉริยะที่พวกเขาสร้างขึ้น เพียงเพราะตอนนี้ทั้งเงิน กฎเกณฑ์ทางธุรกิจ ความรับผิดชอบ และอำนาจการตัดสินใจสามารถนำมายำรวมกันเป็นโปรแกรมขนาดมหึมาได้แล้วเราจะได้เห็นอะไรที่เหมือนหัวหน้าใหญ่ของสัญญาอัจฉริยะซึ่งออกมาเพื่อควบคุมสัญญาอัจฉริยะอื่นๆ อีกทีหรือไม่ ภาษา Turing เหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างสูงสุดหรือเป็นเพียงจุดอ่อน ของสัญญาอัจฉริยะกันแน่
 
8. เครือข่ายบล็อกเชนจะปลอดภัยกว่าเครือข่ายธนาคารที่มีในปัจจุบันหรือไม่ ?

เมื่อกล่าวถึงการเจาะระบบความปลอดภัยซึ่งเกี่ยวข้องกับบล็อกเชนที่ยังดำเนินการอยู่ (เช่น DAO หรือ Bitfinax ยกตัวอย่างเฉพาะสองเคสล่าสุดที่เห็นได้ชัด) คำถามหลักเบื้องต้นที่สำคัญที่สุดคือ: ท้ายที่สุดแล้วเราจะเห็นระบบความปลอดภัยของบล็อกเชนเป็นของตาย เช่นเดียวกับที่เห็นความปลอดภัยระดับธนาคารเป็นของตายหรือเปล่า หรือนี่ยังเร็วไปมากเมื่อเทียบกับวงจรชีวิตของบล็อกเชนที่เราจะคาดหวังความยืดหยุ่นทางความปลอดภัยอย่างเต็มรูปแบบ
ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะไม่คาดหวังให้ความปลอดภัยของบล็อกเชนเทียบเท่ากับสิ่งที่เรียกกันติดปากว่า “ความปลอดภัยระดับธนาคาร”  แม้วันนี้เราจะยังไปไม่ถึงจุดนั้น  อย่างไรก็ตามเราไม่ควรลืมว่าธนาคารจริงๆ เองก็มีประวัติศาสตร์การถูกโจรกรรมมาอย่างโชกโชน  เริ่มตั้งแต่สมัยปี 1800 ในยุค Wild West ในสหรัฐฯ แถมยังคงมีการโจรกรรมธนาคารที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ทั้งการขโมย เจาะระบบ และบุกปล้นอย่างอุกอาจที่มีมาจนถึงทุกวันนี้
 ท้ายที่สุดแล้วความไม่มั่นคงต่างๆ ของระบบรักษาความปลอดภัยของบล็อกเชนควรจะต้องกลายเป็นอดีต เพราะความปลอดภัยนับเป็นปัจจัยที่สำคัญมากหากบล็อกเชนต้องการจะเติบโตในอนาคต
 
9. บล็อกเชนจะมีปฏิสัมพันธ์กับบล็อกเชนอื่นๆ อย่างไรในโลกแห่งความจริง ?

เป็นคำถามที่ถูกสงสัยเข้ามามากเหลือเกิน และเป็นสิ่งที่เราแทบยังไม่เข้าไปแตะหรือคาดหวังจะหาคำตอบที่ทะลุปรุโปร่งได้ในปี 2017
รวมถึงคำถามอื่นๆ อย่างเช่น: จะมีวิธีพื้นฐานใดที่เราจะเข้าถึงข้อมูลที่อยู่นอกห่วงโซ่ได้หรือไม่  องค์กรแบบกระจายศูนย์จะกู้ความน่าเชื่อถือคืนมาในสายตาของหน่วยบริการแบบรวมศูนย์ได้ไหม  บล็อกเชนหลายๆ ตัวจะทำงานร่วมกันที่ระดับการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ได้หรือจะต้องใช้ตัวเชื่อมอื่นๆ อย่างไร  เมื่อเราเชื่อมต่อกับบล็อกเชนได้แล้วยุค “อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things)” จะมาถึงจริงหรือ  จะมีบล็อกเชนรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากแบบสาธารณะและส่วนบุคคลอีกไหม  บล็อกเชนจะบันทึกและอัพเดทสถานะในโลกจริงได้อย่างไร  หรือเราควรจะปรับกิจกรรมทุกอย่างให้เหมาะสมกับกิจกรรมบนบล็อกเชน  การย้ายสินทรัพย์ข้ามบล็อกเชนจะเป็นฝันร้ายแห่งการรวมฐานข้อมูลหลายๆ ตัวเข้าด้วยกัน หรือมันจะง่ายกว่านั้นเยอะ
 
10. บล็อกเชนส่วนบุคคลจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ?


โลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขันของบล็อกเชนจะมีหน้าตาอย่างไร  หรือพวกมันทั้งหมดจะทำงานร่วมกันได้เป็นหนึ่งเดียว ถ้าโลกนี้มีอินเทอร์เน็ตมากกว่าหนึ่งระบบ ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันคงจะไม่เบ่งบานอย่างที่เป็นตลอดเวลาที่ผ่านมา แน่นอนว่าเส้นทางไปสู่ระบบบล็อกเชนหลายเครือข่ายและบัญชีธุรกรรมสาธารณะกำลังถูกสร้างอยู่  แต่เรายังคงไม่เข้าใจเต็มร้อยว่า Network Effect ที่จำเป็นจะได้รับผลกระทบอย่างไร จากความทวีคูณของเครือข่ายบล็อกเชน บล็อกเชนส่วนบุคคลจะเกิดขึ้นเพียงรูปแบบเดียวคือเป็นของกลุ่มการค้าร่วม  หรือจะมีรูปแบบอื่นๆ ในทำนองเดียวกับเว็บไซต์ส่วนบุคคล  บริษัทหนึ่งๆ จะมีแอปพลิเคชันบล็อกเชนเป็นของตัวเอง เพื่อรองรับลูกค้าเฉพาะของพวกเขาหรือไม่




 

ที่มา
[1] http://techsauce.co/analysis/20-questions-where-blockchain-2017/
[2] https://www.it24hrs.com/2016/blockchain-effect-bitcoin-blockchain/
[3] http://www.blockchaintechnologies.com/blockchain-definition
[4] https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Blockchain_Illustration_2.jpg


 

คนอื่นๆอ่านเรื่องนี้ แล้วมักจะอ่านเรื่องต่อไปนี้ต่อ

หมวด