ในปี 2562 ตลาดแรงงานไทยอาจจะอยู่ในภาวะชะลอตัว และคาดว่าจะมีคนว่างงานเพิ่มขึ้น 1.1-1.2% จากแรงงานทั้งหมด 38 ล้านคน และแรงงานประเทศไทยยังมีจุดอ่อนในเรื่องภาษา
ปัจจุบันมีหลักฐานมากมายที่สนับสนุนว่า คนที่มีความสามารถด้านภาษานั้นได้เปรียบที่สุด ซึ่งสวนทางกับสถานการณ์ในประเทศไทย ที่ยังคงขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถด้านภาษาเป็นอย่างมาก บทความนี้จะมาเจาะลึกตลาดแรงงานสำหรับคนที่เก่งด้านภาษาในยุค 4.0 กัน
การสนับสนุนด้านภาษานั้น รัฐบาลได้มีนโยบายในการผลักดันเรื่องนี้กันมาโดยตลอด และเริ่มบูมขึ้นหลังจากเปิดประชาคมอาเซียน หลายภาคส่วนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญภาษาที่นอกเหนือจากภาษาไทย อย่างไรก็ตาม ตลาดแรงงานในประเทศไทยก็ยังคงขาดแคลนอยู่ดี
เพราะอะไรเราถึงขาดแคลนคนที่เก่งด้านภาษา?
มีบทความที่วิเคราะห์ได้น่าสนใจว่า ประเทศไทยเอง คนยังคงเลือกไปกระจุกตัวอยู่ในอาชีพตามค่านิยมในปัจจุบัน ประจวบกับบริษัทต่างๆ ต้องการลูกจ้างในเรทราคาที่ต่ำกว่า เมื่อเปิดประชาคมอาเซียน การแลกเปลี่ยนแรงงานเป็นไปอย่างเสรี บวกกับการ Disrupt โดยปัญญาประดิษฐ์อีก ส่งผลให้เกิดการหันไปจ้างลูกจ้างจากต่างชาติ หรือใช้เทคโนโลยีแทน ครั้นเมื่อตลาดแรงงานที่เป็นที่นิยมมีตำแหน่งรองรับไม่พอต่อความต้องการ การจะหันไปเลือกทำงานในต่างประเทศแทนก็ถูกปัดตกไปเนื่องจาก “กำแพงด้านภาษา” เป็นอุปสรรคใหญ่หลวง
ถึงเวลาแก้เกมส์?
สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำ คือการผลักการพัฒนาบุคลากรตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นการชี้ทางสว่างสำหรับคนรุ่นใหม่ในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ในประเทศและทั่วโลก การฝึกทักษะด้านภาษาเป็น Basic ที่จะเป็นตัวตั้งต้นในการก้าวเข้าสู่การทำงานอย่างมั่นคงได้ และสามารถพูดได้เลยว่า ตลาดแรงงานทั่วโลกในปัจจุบัน การที่เราสามารถพูดได้ 2 ภาษานั้นไม่ได้ทำให้บริษัทต่างๆ รู้สึกว้าวได้อีกต่อไป ต้องเริ่มผลักดันให้ตนเองพูด 3 ภาษาให้ได้ แล้วเราจะเป็นกลุ่มคนที่ไม่อยู่ในความเสี่ยงที่จะตกงานอีกต่อไป
ประจวบกับการส่องตลาดแรงงานปี 2562 ที่ต้องการแรงงานมากที่สุด แบ่งเป็น 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่
- ธุรกิจการบริการ ; ขนส่ง ค้าปลีก ที่ปรึกษาต่างๆ
- ธุรกิจสินค้าและอุตสาหกรรม ; ยานยนต์ ปิโตรเคมี
- ธุรกิจด้านเทคโนโลยี ; เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
สิ่งที่คนยุค 4.0 ควรทำ คือการปรับตัวเข้ากับเทรนด์โลก เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมของเพื่อนบ้าน หรือประเทศที่เราสนใจ แน่นอนว่าให้ได้มากที่สุด หรืออย่างน้อย 3 ภาษาขึ้นไป บวกกับการจับทิศทางตลาดแรงงานให้ถูก ว่าเราจะนำทักษะที่มี ไปใช้ในอาชีพที่อยู่ในความต้องการของตลาดแรงงานได้อย่างไร เท่านี้ ความเสี่ยงก็เท่ากับศูนย์อย่างแน่นอน
อ้างอิงจาก
www.bltbangkok.com
news.mthai.com