5 เทคนิคช่วยตัดสินใจ ก่อนเลือกเรียนหลักสูตรนานาชาติ (อินเตอร์)
นอกจากการเลือกคณะสาขาที่จะสอบเข้าแล้ว การเลือกหลักสูตรหรือรูปแบบการเรียนในมหาวิทยาลัยจะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยส่งเสริมและสร้างโอกาสรวมทั้งความได้เปรียบให้อนาคตการทำงานและการใช้ชีวิตของเราได้
"หลักสูตรอินเตอร์" ก็คือรูปแบบการศึกษาที่ตอบโจทย์นี้ของน้องๆ และทุกคนได้เช่นกัน
และบทความนี้เรา
5 มีเทคนิคการเลือกเรียนหลักสูตรอินเตอร์ให้เหมาะกับตัวเอง มาฝากน้องๆ รวมทั้งทุกคนที่สนใจและเห็นความได้เปรียบในการเรียนรูปแบบแบบนี้มาฝากกัน
1. ตรวจสอบรายวิชาของสาขาที่จะเรียน
ข้อแรกคือการเลือกสาขาที่เราจะเรียนต่อ ศึกษาดูรายละเอียดวิชาย่อย (สำคัญมาก) เพราะสิ่งนี้จะเป็นตัวชี้วัดอนาคตการเรียนของเราว่าจะได้ความรู้และทักษะทางด้านนั้นๆ แน่นแค่ไหน ซึ่งจากการหาข้อมูล บางครั้งเราจะพบว่า มีมหาวิทยาลัย 2-3 แห่งเปิดสอนสาขานี้เหมือนกัน ชื่อปริญญาเหมือนกัน แต่พอไปดูรายวิชาแกนหลักและรายย่อยที่สอนกลับพบว่าแตกต่างกันมาก ในส่วนนี้ต้องคิดให้ดีว่าเมื่อเรียนจบแล้วเราต้องการทำงานอะไรแบบไหน จากนั้นก็ดูว่าหลักสูตรใดจะให้ในสิ่งที่เราต้องการได้ดีและตรงกว่า
เช่น บางหลักสูตรมีวัตถุประสงค์ต้องการผลิตบัณฑิตที่รู้รายละเอียดด้านเทคนิคของงานมาก ก็จะมีรายวิชาเกี่ยวกับการปฎิบัติ (Practice) มากกว่า ในขณะที่อีกหลักสูตรหนึ่งต้องการผลิตบัณฑิตสายบริหารของสาขางานนั้น ก็จะมีรายวิชาทางด้านปฎิบัติน้อย แต่ไปเพิ่มรายวิชาด้านการบริหารแทน จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 หลักสูตรมีเป้าหมายในการผลิตบัณฑิตที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับผู้เรียนว่าต้องการจะเลือกทางไหนนั่นเอง
2. ดูคุณสมบัติของตัวเราเอง
หลังจากตัดสินใจเลือกสาขาและรายวิชาหลักที่ต้องการเรียนได้แล้ว ก็มาถึงในส่วนคุณสมบัติของตัวเราเองบ้าง เพราะการคัดเลือกคนเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ทางหลักสูตรก็จะมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครเรียนไว้ด้วย อย่างเช่นแผนการเรียน เกรดเฉลี่ย ผลงาน หรือคะแนนสอบภาษาอังกฤษ
ซึ่งขอแนะนำให้น้องๆ สังเกตุกันให้ดีว่า หลักสูตรใหม่ที่เพิ่งเปิดรับในปีแรกๆ มักจะไม่ค่อยกำหนดคุณสมบัติของผู้เรียนไว้สูงมาก แต่ถ้าเป็นหลักสูตรที่ได้รับความนิยมและได้รับการยอมรับมานาน ก็จะมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครเรียนไว้ค่อนข้างสูง
3. ความร่วมมือกับสถาบันต่างประเทศ
ความร่วมมือกับสถาบันในต่างประเทศ ย่อมหมายถึงโอกาสที่นักศึกษาจะได้ไปเรียนในโครงการแลกเปลี่ยน (Exchange Program) หรือบางหลักสูตรจะมีอาจารย์จากสถาบันการศึกษาจากสถาบันที่มีชื่อเสียงมาบรรยายให้ความรู้และช่วยเสริมประสบการณ์
รวมถึงในบางหลักสูตรที่มีความร่วมมือกับสถาบันในต่างประเทศ นักศึกษาจะมีโอกาสเรียนที่ประเทศไทยและสามารถโอนหน่วยกิตไปเรียนต่อจนจบจากสถาบันการศึกษาที่มีข้อตกลงกันไว้ (แต่ในส่วนนี้นักศึกษาอาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม) แต่เมื่อแลกกับโอกาสได้ไปเรียนจากสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพ หรือในบางกรณีเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลก ก็ย่อมเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าและคุ้มค่าอย่างแน่นอน
4. คณาจารย์ผู้สอน นักศึกษา และศิษย์เก่า
คณาจารย์ผู้สอนนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ อาจารย์ประจำ และอาจารย์พิเศษ อาจารย์ประจำคืออาจารย์ที่ทำงานประจำและสังกัดคณะสาขานั้นๆ ส่วนอาจารย์พิเศษคืออาจารย์ที่ไม่ได้ทำงานประจำกับหลักสูตร แต่จะมาบรรยายให้นักศึกษาฟังตามการเชิญ ขอแนะนำน้องๆ ว่าควรให้ความสำคัญกับอาจารย์ประจำมากกว่า เพราะเป็นอาจารย์ที่นักศึกษาจะได้ใกล้ชิดและได้รับการถ่ายทอดจากเป็นหลัก ซึ่งการดูว่าคณาจารย์ของหลักสูตรนั้นๆ เป็นอย่างไรนั้น สามารถพิจารณาได้จากประวัติการศึกษา ประสบการณืสอน ผลงานทางวิชาการ โดยดูจากหน้าเว็บของสาขาหรือมหาวิทยาลัย และค้นหาจาก Google เลยก็ได้
นอกจากดูความน่าเชื่อถือของคณาจารย์แล้ว รุ่นพี่ นักศึกษาปัจจุบัน และบัณฑิตที่จบการศึกษาไปแล้ว ก็เป็นอีกหนึ่งทางที่ดีที่สุดในการตัดสินใจ น้องๆ ลองสอบถามจากผู้ที่มีโอกาสได้สัมผัสกับหลักสูตรนั้นๆ โดยตรง อย่างพี่ๆ นักศึกษาปัจจุบันหรือรุ่นพี่ที่เรียนจบมา เพราะเขาจะให้แง่มุมในการเรียนตลอดจนบรรยากาศของการเรียนปัจจุบันได้ดี ในขณะที่บัณฑิตจะสามารถชี้ให้เห็นถึงโอกาสในการหางานและการยอมรับของนายจ้างที่มีต่อหลักสูตรได้ นอกจากนี้ในบางหลักสูตรที่มีการระบบศิษย์เก่า (Alumni Network) ที่ดี จะสามารถช่วยเหลือรุ่นน้องให้คำแนะนำและความช่วยเหลือที่ดี แม้จะไม่เคยรู้จักกันมาก่อนก็ตาม
5. ค่าเทอมและค่าใช้จ่ายตลอดการเรียน
หลักสูตรแต่ละแห่งจะมีการแจ้งค่าเล่าเรียนให้ผู้ปกครองและนักศึกษาทราบตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตามหลักสูตรแต่ละแห่งก็มีวิธีการแจ้งรายละเอียดต่างกันออกไป บางแห่งแจ้งค่าเล่าเรียนเป็นแบบต่อเทอม (หนึ่งปีมี 2 หรือ 3 เทอม ต้องไปศึกษาเอาเอง) ในขณะที่บางแห่งแจ้งเป็นค่าเล่าเรียนต่อปี นอกจากนี้ยังมีค่าธรรมเนียมอื่นๆ ซึ่งไม่ได้รวมเข้าไปในค่าเล่าเรียนด้วย
อย่างที่เรารู้กันว่า การศึกษาคือการลงทุน และการลงทุนนั้นมีความเสี่ยง แต่หากเรามั่นใจว่าเราสามารถยอมรับความเสี่ยงนั้นได้ ก็ขอให้ทุกคนพยายามตั้งใจเรียน หาความรู้ พัฒนาทักษะให้ได้มากที่สุด อย่างน้อยความรู้นั้นก็จะอยู่กับเราไปตลอด และเราสามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาสร้างคุณค่าให้กับชีวิตเราได้อย่างแน่นอน