หน้าแรก เรียนอินเตอร์ ข่าว/บทความ

พ่อแม่ควรให้เด็กๆ เรียนภาษาอังกฤษตอนอายุเท่าไหร่ดี?

วันที่เวลาโพส 19 มีนาคม 61 12:11 น.
อ่านแล้ว 0
P' แพว AdmissionPremium

จากข่าวที่หลายๆ คนเคยเห็นผ่านตามาบ้าง เรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการของประเทศเกาหลีใต้ มีการบังคับใช้นโยบาย ห้ามสอนภาษาอังกฤษแก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2 โดยให้เริ่มเรียนภาษาอังกฤษในชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเป้าหมายหลักของการบังคับใช้นโยบายนี้ก็เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และสกัดกั้นโรงเรียนประถมและสถาบันเอกชนที่แสวงหาผลประโยชน์จากการเปิดสอนภาษาอังกฤษแก่เด็กประถม โดยเก็บค่าเล่าเรียนสูงเกินจริง 

จากการประกาศใช้นโยบายดังกล่าวของประเทศเกาหลีใต้ เกิดเป็นประเด็นคำถามขึ้นมามากมายว่า กระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้มาห้ามแบบนี้ทำไม ในเมื่อยิ่งเริ่มเรียนภาษาที่สองเร็วเท่าไหร่ ก็น่าจะเป็นเรื่องดีกับตัวเด็ก? แต่ทำไมเกาหลีใต้ไม่คิดแบบนั้น แล้วตกลงเด็กๆ ต้องเริ่มเรียนภาษาต่างประเทศเมื่อไรกัน?

ในความคิดเห็นของ ควอนจียอง ผู้อำนวยการกรมคุ้มครองและส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ปฐมวัย กระทรวงศึกษาธิการแห่งเกาหลีใต้ ที่ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า "พ่อแม่ชาวเกาหลีใต้จำนวนมากเชื่อว่า การเรียนรู้ภาษาที่สองนอกเหนือจากภาษาแม่ ควรเริ่มต้นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้วิธีเรียนรูู้ภาษาต่างประเทศควบคู่ไปกับการเรียนภาษาเกาหลี แต่ในความเป็นจริงแล้วช่วงวัยที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ภาษาที่สอง (ในกรณีนี้คือภาษาอังกฤษ) ควรเริ่มเมื่อเด็กเข้าสู่ชั้นประถม 3 เป็นต้นไป"


ด้าน โรเบิร์ต คลูนเดอร์ ศาสตราจารย์ด้านสัทศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์โคเรียไทม์ส โดยระบุว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ยังไม่เคยเห็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่าการสอนภาษาที่สองแก่เด็กปฐมวัย ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 5-7 ปี จะส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ภาษาแม่ และการสอนภาษาต่างประเทศแก่เด็กที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป พบปัญหาเด็กพัฒนาทักษะการออกเสียงได้ช้ากว่าเด็กที่เริ่มเรียนภาษาต่างประเทศตั้งแต่ปฐมวัย

มีนักวิชาการสายการเรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองเคยนำเสนอ Critical Period Hypothesis หรือ CPH หมายถึง ช่วงเวลาที่เด็กสามารถเรียนรู้ภาษาได้ดีที่สุด อย่าง ไวล์เดอร์ เพนฟิลด์ (Wilder Penfield) และ ลามาร์ โรเบิร์ตส์ (Lamar Roberts) ระบุว่า ช่วงก่อนอายุ 9 ขวบคือวัยที่เหมาะสมที่สุดในการเรียนภาษา เพราะสมองมนุษย์ยังยืดหยุ่นพอเหมาะพอดีสำหรับทักษะต่างๆ ที่จำเป็นในการใช้เรียนภาษาอยู่

แต่เอริค เลนเบิร์ก (Eric Lenneberg) แย้งว่า ต้องเรียนก่อนเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เพราะตอนนั้นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมองจะเริ่มจำกัดภารกิจให้กับชิ้นส่วนข้างซ้ายและขวาของมันเอง (laterization) ดังนั้น ถ้าการเรียนภาษาเกิดขึ้นหลังจากนี้ไปจะเป็นเรื่องยากแล้ว รวมทั้งสตีเฟน แครชเชน (Stephen Krashen) ก็บอกว่า กระบวนการจำกัดภารกิจของสมองนั้นจบไปตั้งแต่เด็กอายุ 5 ขวบ วัยรุ่นนี่ช้าไป ทั้งนี้สมมุติฐานดังกล่าวมักใช้กับทักษะด้านการออกเสียงและไวยากรณ์ 


แต่ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีผลการวิจัยอื่นๆ เพิ่มเติมที่พบว่า เด็กอายุ 12-15 ปี เรียนภาษาที่สองได้ดีกว่าเด็กที่อายุน้อยกว่า (เรียนในที่นี้คือการเรียนทั้งในห้องเรียนและตามธรรมชาติ) เพราะทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ แยกแยะ และจัดกลุ่มต่างๆ พัฒนาเต็มที่แล้ว ด้านโรเบิร์ต บลาย โรมัน ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ผู้ที่เรียนภาษาที่สองต้องอาศัยการเรียนรู้ประเภทอื่นๆ ด้วย และการเรียนรู้ผ่านการเรียนไวยากรณ์ ไม่ใช่วิธีการซึมซับภาษาตามธรรมชาติแบบการเรียนภาษาที่หนึ่ง ผู้เรียนอาจจะไม่มีวันประสบความสำเร็จถึงขั้นสื่อสารภาษาที่สองได้เหมือนภาษาที่หนึ่ง ‘เป๊ะ’ แต่สมมุติฐานนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงเป็นวงกว้างอยู่ดี

สรุปว่า ไม่มีข้อสรุปและเป็นเรื่องที่วงการนักวิชาการเลิกพยายามหาข้อสรุปแล้ว เพราะโจทย์นี้ไม่เข้ากับยุคสมัยอีกต่อไป แต่สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองรวมทั้งผู้ใหญ่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาควรคิดหาคำตอบที่เหมาะสมร่วมกันในประเด็นที่ว่า ควรให้เด็กหรือลูกหลานเรียนภาษาอังกฤษหรือภาษาที่สองเมื่ออายุเท่าไหร่ดี? คือ ความแตกต่างของภาษาที่หนึ่งและสอง อายุที่ผู้เรียนเริ่มเรียนภาษาต่างประเทศซึ่งอาจส่งผลต่อความยากง่ายในการเรียนรู้ ฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจของผู้เรียน และสภาพแวดล้อมและบริบทวัฒนธรรมที่คนคนนั้นใช้ชีวิตอยู่ 


ที่มา : waymagazine.org 

คนอื่นๆอ่านเรื่องนี้ แล้วมักจะอ่านเรื่องต่อไปนี้ต่อ

หมวด