รายงานความสุขโลกประจำปี (World Happiness Report) ขององค์การสหประชาชาติระบุว่า ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกในปีนี้คือฟินแลนด์ ขณะที่นอร์เวย์ตกไปอยู่อันดับที่สอง ส่วนประเทศที่มีความสุขน้อยที่สุดคือบุรุนดี
ผลการสำรวจ "คุณภาพชีวิตแบบอัตนัย" ซึ่งสอบถามความรู้สึกของประชาชนว่ามีความสุขเท่าใดและเพราะอะไร พบว่าประเทศในกลุ่มนอร์ดิกมักจะติดห้าอันดับประเทศที่มีความสุขมากที่สุด ส่วนประเทศในแถบซับซาฮาร่าในทวีปแอฟริกามักอยู่ในห้าอันดับรั้งท้ายตาราง และการสำรวจของยูเอ็นจัดอันดับ 156 ประเทศจากระดับความสุขของประชากร และจัดอันดับ 117 ประเทศจากระดับความสุขของคนเข้าเมือง โดยมีอันดับดังต่อไปนี้
สำหรับประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 46 (ลดลงจากปี 2017 ที่ได้อันดับที่ 32) ตามหลังสองประเทศในอาเซียนคือสิงคโปร์ (อันดับที่ 34) และมาเลเซีย (อันดับที่ 35) ประเทศที่มีการปรับปรุงเรื่องความสุขมากที่สุดคือโตโก ซึ่งปรับขึ้น 17 อันดับ ขณะที่เวเนซูเอลาตกลงมากที่สุด 20 อันดับไปอยู่ที่ 102 ในปีนี้
จากการศึกษาพบด้วยว่าประเทศที่มีความสุขมากที่สุด 10 อันดับแรก มีคะแนนความสุขของคนเข้าเมืองสูงที่สุดด้วย ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าความเป็นอยู่ที่ดีของคนเข้าเมือง มีส่วนเชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิตในประเทศที่พวกเขาเข้าไปตั้งรกราก
สำหรับฟินแลนด์ซึ่งมีประชากรราว 5.5 ล้านคน สถิติเมื่อปี 2016 ชี้ว่ามีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ราว 300,000 คน ซึ่งนายจอห์น เฮลลีเวลล์ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียและบรรณาธิการร่วมของรายงานฉบับนี้กล่าวว่า "ข้อสรุปที่เราพบว่าโดดเด่นที่สุดในรายงานนี้ คือความสอดคล้องระหว่างความสุขของคนเข้าเมืองและความสุขของคนท้องถิ่น"
อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้ยังใช้สถิติเพิ่มเติมเพื่ออธิบายด้วยว่า เหตุใดประเทศหนึ่งถึงมีความสุขมากกว่าอีกประเทศ โดยมองปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ (นับจากผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อประชากร) สวัสดิการสังคม อายุขัย เสรีภาพในการเลือก ความเอื้อเฟื้อ และข้อสังเกตเรื่องคอร์รัปชัน
ที่มา :
www.bbc.com