"ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ปลูกอู่ตามใจผู้นอน" การที่เราจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งเราต้องทำเพราะเราอยากทำ ไม่ใช่ให้ใครมาบังคับให้เราทำ อย่างเช่นการเรียนแบบอินเตอร์ ถ้าเราไม่อยากเรียนจริงๆ เราก็คงจะเรียนไม่รู้เรื่อง เพราะมันต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร ไม่ใช่ภาษาไทยที่เราใช้มาตั้งแต่เด็ก จึงทำให้เป็นเรื่องที่หลายคนไม่ชอบนัก แต่ในปัจจุบันใครเก่งภาษาอังกฤษก็จะได้เปรียบคนอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เกิดเป็นแฟชั่นในการเรียนอินเตอร์ แต่ไม่รู้ความหมายที่แท้จริงของมัน วันนี้พี่จะมาเล่าให้ฟังว่าการเรียนอินเตอร์มันดี หรือ ไม่ดีอย่างไร
ปัจจุบันหลักสูตรอินเตอร์ หรือภาษาอังกฤษได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าค่าเทอมต่อปีจะสูงถึงหลักแสน แต่กระแสความนิยมเรียนอินเตอร์ในระดับมหาวิทยาลัยก็ไม่ลดลง กลับเพิ่มความสนใจมากขึ้น บ้างก็ว่าเหตุผลที่อยากเรียนเป็นเพราะอยากใช้อยากเก่งภาษาอังกฤษ ยิ่งเปิดประตูต้อนรับประชาคมอาเซียนแล้ว ยิ่งทำให้มีโอกาสในการเข้าทำงานกับบริษัทต่างชาติมากขึ้น เหมือนกับเป็นใบเบิกทางเข้าทำงานกับที่ดีๆ และได้รับเงินเดือนสูงๆ แต่ถ้าหากการลงทุนเสียค่าเทอมเป็นแสนๆ เพื่อได้ใช้ภาษาอังกฤษ มันจะคุ้มค่าจริงๆ รึป่าว?
เกณฑ์ในการเข้าศึกษา
การรับเข้าของหลักสูตรนานาชาติมีทั้งการรับตรงที่มหาวิทยาลัยรับเองและรับผ่าน Admissions ถ้าเป็นการรับผ่าน Admissions จะใช้คะแนน GPAX , ONET , GAT และ PAT ในสัดส่วนคะแนนตามกลุ่มคณะ เช่น บริหารธุรกิจ ใช้ GAT 30% PAT1 20% โดยมี GPAX และ O-NET เท่ากันทุกคณะ แต่จะมีการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของคะแนนภาษาอังกฤษไว้ เช่น ต้องได้คะแนน O-NET วิชาภาษาอังกฤษ ไม่ต่ำกว่า 30% เป็นต้น มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะวัดความสามารถด้วยกัน 3 ด้าน คือ ความสามารถด้านภาษาอังกฤษความสามารถด้านคณิตศาสตร์ และความสามารถเฉพาะด้านตามคณะที่จะเข้า
การทดสอบแบบสากล
TOEFL มีการทดสอบในส่วน Internet-based Test (iBT) ประเมินความสามารถด้านการฟัง พูด อ่าน และเขียนภาษาอังกฤษ และ ในส่วนPaper-based Test (PBT) คือการประเมินความสามารถในการอ่าน ฟัง และเขียนภาษาอังกฤษ
IELTS เป็นการทดสอบภาษาอังกฤษระดับนานาชาติ เพื่อใช้ประเมินความสามารถด้านภาษาของผู้สมัครสอบที่ต้องการเรียนหรือทำงานในสถานที่ที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร การสอบ IELTS ใช้ประเมินความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของผู้สมัครสอบอย่างมีประสิทธิภาพใน 4 ทักษะนั้นคือ การฟัง การอ่าน การเขียน และการพูด รวมถึงความรู้ทางด้านไวยากรณ์และคำศัพท์ในการใช้ภาษาด้วย
SAT เป็นการทดสอบมาตรฐาน จะทดสอบทักษะด้านคณิตศาสตร์ สำหรับคนที่ต้องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยต่างๆ ในอเมริการะดับปริญญาตรี ข้อสอบประกอบด้วย 2 ส่วน คือ Math sections และ Verbal sections และ Critical Reading คะแนนเต็มมี 3 ส่วน คือ 800, 800 และ 800 คะแนน คะแนนเต็มทั้งหมด 2,400 คะแนน
อินเตอร์กับอนาคตการทำงาน
สำหรับผู้ที่จบหลับสูตรอินเตอร์มานั้น อาจมีความได้เปรียบในด้านภาษามากกว่าผู้ที่จบหลักสูตรธรรมดา แต่อย่างไรก็ตามต้องขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เลือกสมัครด้วย ถ้าสมัครตำแหน่งที่จำเป็นต้องใช้ภาษาในการสื่อสารในการทำงานเป็นหลัก ผู้ที่จบอินเตอร์คงมีแนวโน้มและมีโอกาสในการได้งานมากกว่า หากเป็นตำแหน่งอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้ความสามารถทางด้านภาษามากนัก ก็คงจะต้องวัดกันที่ความสามารถในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง ประสบการณ์การทำงาน และทัศนคติ มุมมองการทำงานเป็นองค์ประกอบในการเข้าทำงานด้วยเช่นกัน
อยากเรียนอินเตอร์จริงหรือตามกระแส?
กระแสการเข้าเรียนหลักสูตรอินเตอร์ถูกพูดถึงกันมากในยุคปัจจุบันที่ภาษาอังกฤษมีความสำคัญอย่างสูง เหตุผลส่วนใหญ่ที่เลือกเรียนอินเตอร์คงหนีไม่พ้นอยากเก่งภาษาอังกฤษและอยากเพิ่มทักษะในเรื่องการฟัง พูด อ่าน เขียน ยอมเสียเงินค่าเทอมแพงๆ เพื่อแลกกับโอกาสและความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ดังนั้นการเรียนภาคอินเตอร์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการโอกาสมากขึ้นในการทำงานในอนาคต
คงจะคุ้มค่ามากๆ หากเราอยากเรียนอินเตอร์จริงๆ เพราะเราจะได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษที่คนทั่วโลกยอมรับให้เป็นภาษากลาง นั่นหมายความว่า ถ้าเราเก่งภาษาอังกฤษ เรานั้นก็สามารถสื่อสารกับใครก็ได้บนโลกใบนี้ แต่หากเราโดนบังคับให้เรียนหรือเรียนไปตามกระแสแฟชั่น เราก็คงไม่ใส่ใจกับมัน และในที่สุดก็เสียค่าเทอมแพงๆ ไปแบบไร้ประโยชน์ ดังนั้นควรตัดสินใจให้ดีก่อนว่าอยากเรียนจริงๆ หรือตามกระแสคนอื่น
เรียนอินเตอร์คุ้มค่าหรือไม่? คงต้องตอบว่า “คุ้มค่ากับคนบางคน” เพราะในด้านเศรษฐศาสตร์นั้นหมายถึง เด็กอินเตอร์ที่จบมาจะมีการงานอาชีพที่สามารถสร้างรายได้มากกว่าเด็กที่จบหลักสูตรธรรมดาทั่วไป ส่วนใหญ่เด็กเรียนอินเตอร์เมืองไทย บ้านมีฐานะการเงินดีอยู่แล้วในระดับหนึ่ง อาจจะไม่สนว่าคุ้มไหมในเชิงการเงิน เพราะพ่อแม่ก็หวังให้ลูกได้ในสิ่งที่ดีที่สุด...เพื่ออนาคตของตัวเราเอง