ศธ. ตั้ง โรงเรียนจุฬาภรณ์ ชลบุรี เป็นโรงเรียนนวัตกร สร้างนักเทคโน-ดิจิทัล ป้อน"อีอีซี" ดึงผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นเข้ามาช่วย พร้อมเตรียมออกหลักเกณฑ์คัดเลือกผู้รับทุนไจก้า คาดเริ่มดำเนินการใน ปีการศึกษา 2562
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วยนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาฯ กอศ.) และคณะทำงานโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น เดินทางลงพื้นที่ระเบียงเศรฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อหารือถึงแนวทางการดำเนินการสร้างโรงเรียนนวัตกร
โดยนพ.ธีระเกียรติ กล่าวตอนหนึ่งว่า ศธ. วางแนวทางการสร้างนักนวัตกรไว้ 2 แนวทาง คือ แนวทางแรกรัฐบาลญี่ปุ่นโดยองค์การความร่วมระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ ไจก้า จะสนับสนุนให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเป็นทุนการศึกษา จำนวน 500 ทุน ปีละ 80 คน โดยเป็นการให้ทุนไปเรียนหลักสูตรโคเซ็นที่ประเทศญี่ปุ่น
ซึ่งจะการคัดเลือกผู้เข้ารับทุนดังกล่าวจะคล้ายกับการคัดเลือกการสอบเข้าโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย และมีตัวแทนจากสถาบันโคเซ็นประเทศญี่ปุ่น มาร่วมคัดเลือกด้วย ซึ่งเราจะทำให้เป็นมาตรฐานสากล ดังนั้นเด็กที่ได้รับทุนดังกล่าวต้องกลับมาใช้ทุนทำงานในภาครัฐหรือเอกชน โดยคาดว่าเร็วๆนี้จะร่างหลักเกณฑ์การให้ทุนดังกล่าวเสร็จ เพื่อให้เริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2562 ทันที
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า ส่วนแนวทางที่สอง คือการสร้างโรงเรียนนวัตกร ซึ่งจะดำเนินการใช้กับโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.ชลบุรี เนื่องจากมีความพร้อมทั้งด้านกายภาพและด้านวิชาการ ซึ่งแนวทางการสร้างโรงเรียนนวัตกรจะเน้นสร้างนักเทคโนโลยี และ ดิจิทัล โดยการออกแบบหลักสูตรของการเป็นโรงเรียนนวัตกรก็จะต้องเน้น 2 เรื่องหลัก คือ เทคโนโลยี และ ดิจิทัล
รวมถึงการมีพื้นฐานวิทยาศาสตร์ที่เข้มข้นด้วย ซึ่งการสร้างโรงเรียนนวัตกรเราจะมีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาช่วยดำเนินการให้ ทั้งนี้จะเริ่มสร้างโรงเรียนนวัตกรได้เมื่อไหร่นั้นหากมีความพร้อมตนก็จะทำทันที แต่จะร่วมมือสร้างโรงเรียนนวัตกรแห่งไหนอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยเบื่องต้นคิดว่าจะเริ่ม 1 แห่งในพื้นที่อีอีซี เพราะตนยังไม่อยากขยายจำนวนเยอะๆ ขอทำโรงเรียนหนึ่งแห่งให้ดีไปก่อน
“เราต้องการสร้างโรงเรียนนวัตกรเพื่อผลิตนักเทคโนโลยี เหมือนกับการมีโรงเรียนเตรีมทหาร และแม้เราจะมีโรงเรียนเตรียมนักวิทยาศาสตร์อยู่แล้วแต่เด็กในกลุ่มนี้กลับมุ่งไปเป็นเป็นหมอ ไม่ได้เป็นนักนวัตกรรมนักเทคโนโลยีอย่างที่ประเทศต้องการ อีกทั้งแม้เราจะมีความร่วมมือกับสถาบันโคเซ็นก็ตามแต่หลายคนมักคิดว่าความร่วมมือจะต้องเกิดกับวิทยาลัยอาชีวะ
จึงทำให้พบปัญหาว่า ความร่วมมือกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาตร์ ชลบุรี กับ วิทยาลัยฐานวิทย์ฯ จ.นครราชสีมา ผลิตเด็กเป็นช่างฝีมือที่ดีแต่ไม่ได้ผลิตให้เป็นนักนวัตกร และครูอาชีวะยังขาดความเข้มข้นในการสอนวิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ด้วย” รมว.ศธ.กล่าว
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า ตนไม่อยากให้มองเช่นนั้นว่าจะโอนหรือไม่โอน เพราะทุกวันนี้การดำเนินการทั้งสองหน่วยงานก็บูรณาการการทำงานร่วมกันอยู่แล้ว ซึ่งเราต้องยึดหัวใจหลักสำคัญของเรื่องนี้คือการสร้างนวัตกรให้ตอบโจทย์ประเทศในอนาคต
ที่มา :
www.moe.go.th
www.thaipost.net