หน้าแรก เรียนวิศวกรรมศาสตร์ อาชีพในอนาคต

“วิศวกรปิโตรเลียม” ขาดแคลนหนัก เด็กจบใหม่แห่ทำงานต่างประเทศ

วันที่เวลาโพส 11 กรกฎาคม 61 13:43 น.
อ่านแล้ว 0
P' แพว AdmissionPremium
“วิศวกรปิโตรเลียม” ขาดแคลนหนัก เด็กจบใหม่แห่ทำงานต่างประเทศ

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยข้อมูล แนวโน้มบุคลากรด้านวิศวกรปิโตรเลียม นักธรณีวิทยา รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านปิโตรเคมีและธรณีวิทยา จะขาดแคลนหรือหาได้ยากขึ้น เพราะแม้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างเปิดประมูลแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย และมีแผนจะเปิดประมูลปิโตรเลียมแหล่งอื่นๆ รอบใหม่ แต่เนื่องจากที่ผ่านมาการเปิดประมูลปิโตรเลียมล่าช้ามาก หลังชะงักมาตั้งแต่ปี 2550 หรือกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้บุคลากรด้านวิศวกรปิโตรเคมี และธรณีวิทยาในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมบางส่วนหันไปทำงานในต่างประเทศ หรือทำงานในธุรกิจและอุตสาหกรรมอื่นแทน

ประกอบกับสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกตกต่ำลงต่อเนื่อง จากเดิมที่ราคาอยู่ในระดับมากกว่า 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล พบว่า ในปัจจุบันภาวะราคาอยู่ที่ 70-75 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลให้ผู้ประกอบการในธุรกิจปิโตรเลียมขาดทุนอย่างหนัก กระทบคนทำงานในธุรกิจสำรวจและผลิตที่ต่างเคลื่อนย้ายการทำงานไปสู่ธุรกิจอื่นแทนทั้งในและต่างประเทศ


และอีกเหตุผลที่ทำให้ในประเทศไทยขาดแคลนวิศวกรปิโตรเลียมและนักธรณีวิทยา เพราะบุคลากรที่สำเร็จการศึกษาทั้ง 2 สาขาวิชานี้ บางส่วนเลือกทำงานในบริษัทต่างชาติ เนื่องจากอัตราผลตอบแทนดีกว่า

ตัวอย่างเช่น ตำแหน่งวิศวกรปิโตรเลียมไม่มีประสบการณ์จะได้รับค่าตอบแทน 28,000-30,000 บาท/เดือน ลูกจ้างบริษัทที่เป็น service contractor เช่น บจ.ชลัมเบอร์เจอร์ หรือฮัลลิเบอร์ตัน อัตราค่าจ้าง 30,000-35,000 บาท/เดือน และบริษัทในอุตสาหกรรมนี้ส่วนใหญ่รับพนักงานทั้งไทยและต่างชาติ


มหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรวิศวกรรมปิโตรเลียมน้อย

ในส่วนของการผลิตบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมปิโตรเลียม แม้ปัจจุบันสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนสาขาเกี่ยวกับวิศวกรรมปิโตรเลียมและธรณีวิทยา จะมีทั้งสายสามัญและสายอาชีพ แต่หลักสูตรที่เปิดการเรียนการสอนมีค่อนข้างจำกัด

โดยระดับอาชีวศึกษาที่เปิดสอนมี วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ เปิดสอนระดับ ปวส. สาขาเทคโนโลยีปิโตรเลียม และสาขาเทคโนโลยีหลุมเจาะปิโตรเลียม ส่วนในระดับปริญญาตรี มีสาขาเทคโนโลยีปิโตรเลียม ม.เทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สาขาวิศวกรรมปิโตรเลียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสาขาวิศวกรรมปิโตรเลียมและเทคโนโลยีธรณี ม.เทคโนโลยีสุรนารี

ส่วนด้านธรณีวิทยา ได้แก่ สาขาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาเทคโนโลยีธรณี ม.ขอนแก่น สาขาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ ม.เกษตรศาสตร์ สาขาวิศวกรรมธรณี ม.เทคโนโลยีสุรนารี และสาขาธรณีศาสตร์ ม.มหิดล


รศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า ก่อนหน้านี้นิสิตหลักสูตรวิศวกรรมปิโตรเลียม บางส่วนจะได้ทุนจากบริษัทเอกชน อาทิ บจ.เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต และ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. โดยให้ทุนการศึกษาเต็มจำนวนกับนิสิตทุกคน พร้อมทั้งรับเข้าทำงานหลังเรียนจบ

อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าในการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม บวกกับราคาน้ำมันตลาดโลกดิ่งลง ภาคเอกชนได้ลดการสนับสนุนโดยให้ทุนการศึกษาลดลงด้วย “หลักสูตรนี้ถือเป็นหลักสูตรท็อปของคณะ โอกาสในการทำงานไม่ได้มีแค่เฉพาะในเมืองไทย แต่ยังสามารถไปทำงานต่างประเทศได้ เด็กจึงเลือกไปหางานทำต่างประเทศมากกว่า เพราะเงินเดือน สวัสดิการดีกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้นิสิตที่เรียนจบหลักสูตรนี้กว่า 50% เลือกไปทำงานต่างประเทศ”  



ที่มา :  www.prachachat.net 

คนอื่นๆอ่านเรื่องนี้ แล้วมักจะอ่านเรื่องต่อไปนี้ต่อ

หมวด