อันดับที่ 8 : วิศวกรรมอุตสาหการ (Industrial/Manufacturing Engineering)
วิศวกรรมอุตสาหการ หรือที่นิยมเรียกว่า IE (Industrial Engineering) ศึกษาด้านการจัดการ การออกแบบอุตสาหกรรม กระบวนการผลิต การบริหารให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และการควบคุมเครื่องจักรกลในกระบวนการผลิตสมัยใหม่ ช่วยเพิ่มผลผลิต เพิ่มกำไร และประสิทธิการในการทำงาน ผู้ที่จบการศึกษาด้านนี้จะเรียกว่า
“วิศวกรอุตสาหการ” เป็นผู้ที่ต้องคอยวิเคราะห์อย่างละเอียดถึงการใช้งาน และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับ คน วัตถุดิบ เครื่องจักร และอุปกรณ์ในองค์กร เงินเดือนเริ่มต้นของวิศวะสาขานี้จะอยู่ที่ 63,104 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,290,500 บาท ต่อปี
อันดับที่ 7 : วิศวกรรมเครื่องกล (Mechanical Engineering)
สาขาวิศวกรรมยอดฮิตและเก่าแก่ที่สุดสาขาหนึ่ง นับตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงปี 2020 เป็นที่คาดการณ์แล้วว่า
“วิศวกรเครื่องกล” จะเป็นที่ต้องการในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากการขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรม และนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ค่าเฉลี่ยเงินเดือนเริ่มต้นจะอยู่ที่ $63,532 หรือประมาณ 2,306,000 บาท ต่อปี โดยค่าตอบแทนสำหรับวิศวกรเครื่องกลที่มีประสบการณ์จะได้รับอัตราค่าจ้างสูงถึง 134,000 เหรียญสหรัฐต่อปี หรือประมาณ 4,863,800 บาท
อันดับที่ 6 : วิศวกรรมธรณี (Geological engineering)
วิศวกรรมธรณี เป็นวิชาที่ใช้ความรู้พื้นฐานทางด้านธรณีวิทยา มาประยุกต์ใช้ในด้านวิศวกรรมโยธา และวิศวกรรมเหมืองแร่ เน้นวิชาด้าน Rock Mechanics หรือ Geomechanics การทดสอบคุณสมบัติหิน การศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการออกแบบงานโครงสร้างทางวิศวกรรม เช่น เขื่อน อุโมงค์ เหมืองใต้ดิน-บนดิน การขุดเจาะน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติ ในต่างประเทศเงินเดือนเริ่มต้นของวิศวกรธรณีจะอยู่ที่ประมาณ 63,656 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,310,500 บาท ต่อปี
อันดับที่ 5 : วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Engineering)
จากผลสำรวจพบว่าอุตสาหกรรมเทคโนโลยี วิศวกรรม และคอมพิวเตอร์ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานความสามารถสูง โดยเฉพาะนักออกแบบคอมพิวเตอร์ และคนเขียนโปรแกรมยังคงเป็นที่ต้องการตัวสูงในหลายประเทศทั่วโลก โดยภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ในอเมริกาส่วนมาก เริ่มก่อตั้งขึ้นควบคู่กับภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า บางมหาวิทยาลัยเลือกที่จะผนวกสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และวิศวกรรมซอฟต์แวร์เข้ากับภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ค่าเฉลี่ยเงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ $64,155 หรือประมาณ 2,328,600 บาท ต่อปี
อันดับที่ 4 : วิศวกรรมเหมืองแร่ (Mining and mineral engineering)
สาขาวิศวกรรมเก่าแก่ที่ประยุกต์ใช้ความรู้ทางด้านวิศวกรรมในหลายๆ ด้าน เพื่อขุดแยกและจัดการกับแร่ธาตุจากแหล่งธรรมชาติ ในประเทศที่พัฒนาด้านอุตสาหกรรมหนักอย่างรวดเร็ว จะให้ความสำคัญแก่สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่มาก เพราะเป็นสาขาที่เกี่ยวกับการนำสินแร่และโลหะ ซึ่งเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมพื้นฐานที่จำเป็นมาใช้งาน โดยมีค่าเฉลี่ยเงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 65,398 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,373,700 บาท ต่อปี และหลักสูตรวิศวกรรมเหมืองแร่ในประเทศไทยมีเปิดสอนอยู่ 4 แห่งที่สภาวิศวกรรับรองวุฒิ คือ จุฬาฯ ม.สงขลานครินทร์ ม.เชียงใหม่ และ ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
อันดับที่ 3 : วิศวกรรมไฟฟ้า (Electrical Engineering)
สาขาวิศวกรรมศาสตร์ที่มีเงินเดือนเริ่มต้นสูงสุดและยังเป็นสาขายอดฮิตที่นักศึกษานิยมเลือกเรียนมากที่สุด โดยงานวิศวกรรมไฟฟ้าส่วนใหญ่จะเชื่อมโยงกับการออกแบบ ทดสอบและดูแลอุปกรณ์ไฟฟ้า บางส่วนยังเกี่ยวกับการออกแบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย จากผลการสำรวจค่าเฉลี่ยเงินเดือนเริ่มต้นของสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าในต่างประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 67,603 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,453,800 บาท ต่อปี
อันดับที่ 2 : วิศวกรรมเคมี (Chemical Engineering)
วิศวกรรมเคมี เป็นศาสตร์ที่ใช้หลักการของเคมี ชีววิทยา และฟิสิกส์ ในหลายหลายอุตสาหกรรม เช่น การผลิตยา การดูแลสุขภาพ การแปรรูปอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น โดยมีค่าเฉลี่ยเงินเดือนเริ่มต้นที่ 69,778 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 2,532,700 บาทต่อปี วิศวกรเคมีจะได้รับการจ้างงานในอัตราที่สูงในเขตพื้นที่ของการผลิตและงานวิจัย โดยเฉพาะวิศวกรรมเคมีที่เกี่ยวข้องกับเทคนิคการแพทย์คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่เร็วกว่าด้านอื่น
อันดับที่ 1 : วิศวกรรมปิโตรเลียม (Petroleum Engineering)
อุตสาหกรรมปิโตรเลียมนับเป็นวงการหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนในระดับสูงแก่ผู้ทำงาน ไม่ว่าจะทำงานที่ไหนในโลก เนื่องจากปิโตรเลียมจะยังคงมีบทบาทในการเป็นทรัพยากรที่โลกต้องการอย่างมากและไม่มีที่สิ้นสุด “วิศวกรรมปิโตรเลียม” จึงเป็นสาขาอาชีพที่น่าสนใจแก่ผู้ที่มีความสามารถ ทั้งในเรื่องผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูง และความมั่นคงในอาชีพการทำงาน เงินเดือนเริ่มต้นของวิศวกรปิโตรเลียมอยู่ที่ประมาณ $72,063 ประมาณ 2,615,700 บาท ต่อปี
ซึ่งในประเทศไทยมีหลักสูตรที่เกี่ยวกับวิศวกรรมปิโตรเลียมที่เปิดสอนอยู่ทั้งหมด 4 สถาบัน คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ปัตตานี) และ มหาวิทยาลันเทคโนโลยีสุรนารี ปัจจุบันในวงการปิโตรเลียมนั้นกำลังขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเนื้อหาหลักสูตรที่ค่อนข้างยาก และเป็นสาขาวิศวกรรมศาสตร์ที่เฉพาะเจาะจง จบมาแล้วต้องทำงานด้านปิโตรเลียมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ก็การันตีได้ว่านักศึกษาที่จบมาทางด้านนี้มีงานทำอย่างแน่นอน
ที่มา:
www.manager.co.th