หลังจากการติดตามข่าวมานาน ตอนนี้ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2559 ก็ได้ลงราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 133 ตอนที่ 33 ก เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559 เป็นที่เรียบร้อย หลังจากร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเพื่อเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ก็ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ 184 ต่อ 0 คะแนน งดออกเสียง 6 เสียง ผู้เข้าประชุม 190 ท่าน..
การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือที่เราเรียกกันว่า “ออกนอกระบบ” นั้น มศว เป็นแห่งที่ 21 หลังจากที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยสวนดุสิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกนอกระบบมาในปีที่แล้ว โดยลงราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 18 กรกฎาคม 2558
โดยพระราชบัญญัติฯ นี้ จะบังคับใช้อย่างเป็นทางการอีก 30 วันนับจากวันที่ 21 เมษายน 2559 หรือกล่าวให้เข้าใจง่ายๆ คือเมื่อผ่านพ้น 30 วันต่อจากนี้ มศว จะออกจากนอกระบบนั่นเอง ตามมาตราที่ 2 ของพระราชบัญญัติ
มาตรา ๒ : พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สำหรับสาระสำคัญของพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2559 นี้คือให้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ หรือออกนอกระบบ ตามมาตราที่ 5 ของพระราชบัญญัตินั่นเอง
มาตรา ๕ : ให้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒตามพระราชบัญญัตินี้ และเป็นนิติบุคคล
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมีฐานะเป็นหน่วยงานในกํากับของรัฐ ที่ไม่เป็นส่วนราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการและกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น
สำหรับมาตราอื่นๆ หรือหมวดอื่นๆ ในพระราชบัญญัติฉบับนี้จะว่าด้วยการบริหารและการดำเนินการของมหาวิทยาลัยเป็นหลักโดย มศว ได้ผ่านการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติฯ โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ 184 ต่อ 0 คะแนน งดออกเสียง 6 เสียง ผู้เข้าประชุม 190 ท่าน
ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ออกนอกระบบ ไม่ได้หมายความว่าจะกลายเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน แต่ยังเป็นมหาวิทยาลัยที่รัฐกำกับอยู่.. สำหรับการเปลี่ยนแปลงหลังจากออกนอกระบบนั้น ส่วนใหญ่และเห็นผลมากที่สุด คือส่วนของการบริหารและบริการของมหาวิทยาลัยมากกว่า คือจะดำเนินการได้ง่ายและคล่องขึ้น มีคุณภาพที่สูงขึ้น อธิการบดีจะปรับเปลี่ยนเป็นนักบริหารในเชิงรุก และการกำหนดนโยบายและการบริหารงานสิ้นสุดที่สภามหาวิทยาลัย
โดยในพระราชบัญญัติฯ ได้มีการระบุเหตุผลของการออกนอกระบบครั้งนี้ไว้ท้ายพระราชบัญญัติว่า :
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยของรัฐ พัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการแต่อยู่ในกํากับของรัฐ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการที่เป็นอิสระและมีความคล่องตัว สามารถจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาจะต้องคํานึงถึงความเป็นอิสระและความเป็นเลิศทางวิชาการ สมควรปรับปรุงการบริหารมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒให้เป็นไปตามแนวทางดังกล่าว จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ส่วนของนิสิตปัจจุบันนั้น จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก จะส่งผลดีในการดำเนินเรื่องต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย แต่นิสิตใหม่ที่เข้ามาหลังจากประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้วอาจมีการปรับเปลี่ยนบางอย่าง เช่นค่าธรรมเนียมการศึกษา หรือรูปแบบการรับนิสิตใหม่
แต่ในส่วน ค่าธรรมเนียมการศึกษา สำหรับนิสิตที่เข้าศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2559 เป็นไปตามมติของสภามหาวิทยาลัยเมื่อ 16 ธันวาคม 2558 ไม่ได้ประกาศหลังจากร่างพระราชบัญญัติผ่านแต่อย่างไร
ส่วนน้องๆ นักเรียนนั้น ไม่ใช่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงในมหาวิทยาลัย เพราะเนื่องจากจะต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกของมหาวิทยาลัยก่อนนั่นเอง
ในส่วนของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร.. ก็ต้องติดตามกันต่อไปครับ แต่เชื่อว่าจะพัฒนาไปในแนวทางที่ดีขึ้นแน่นอน
พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2559 ฉบับสมบูรณ์
ที่มา : พี่ มศว พาน้องสอบ