สอบเข้ามหาวิทยาลัย

การยืนยันสิทธิ์ สละสิทธิ์ และไม่ใช้สิทธิ์ กสพท68 เคลียร์ชัดในโพสต์นี้!

   การยืนยันสิทธิ์ สละสิทธิ์ และไม่ใช้สิทธิ์ กสพท68 เคลียร์ชัดในโพสต์นี้!

    ในกระบวนการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) ผ่านระบบ TCAS68 มีขั้นตอนสำคัญที่นักเรียนและผู้ปกครองต้องเข้าใจให้ชัดเจน ได้แก่ ารยืนยันสิทธิ์ การสละสิทธิ์ และการไม่ใช้สิทธิ์ ซึ่งแต่ละอย่างมีผลกระทบต่อโอกาสการศึกษาของนักเรียนโดยตรง การทำความเข้าใจขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยให้สามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและไม่พลาดโอกาสที่สำคัญ

   1. การยืนยันสิทธิ์ กสพท 68 คืออะไร?



   การยืนยันสิทธิ์ คือ กระบวนการที่ผู้สมัครต้องดำเนินการเพื่อยืนยันว่าจะเข้าศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ หรือสัตวแพทยศาสตร์ ตามที่ได้รับการคัดเลือก หากผู้สมัครไม่ดำเนินการยืนยันสิทธิ์ภายในระยะเวลาที่กำหนด ระบบจะถือว่า “ไม่ใช้สิทธิ์”
  • ผู้สมัครต้องเข้าไปที่ระบบ myTCAS และกดปุ่ม "ยืนยันสิทธิ์"
  • การยืนยันสิทธิ์ในรอบ กสพท เป็นการผูกมัดสิทธิ์ ไม่สามารถสมัครในรอบถัดไปของ TCAS ได้ (เว้นแต่จะทำการสละสิทธิ์)
  • ผู้ที่ยืนยันสิทธิ์แล้วต้องเตรียมตัวดำเนินการตามขั้นตอนของมหาวิทยาลัยที่ได้รับการคัดเลือก

   2. การไม่ใช้สิทธิ์ หมายถึงอะไร?


   การไม่ใช้สิทธิ์ หมายถึง การเลือกที่จะไม่ดำเนินการใด ๆ หลังจากได้รับการคัดเลือก หรือไม่กดยืนยันสิทธิ์ในระบบ myTCAS ภายในระยะเวลาที่กำหนด
  • หากผู้สมัครไม่ได้ยืนยันสิทธิ์ จะไม่ถือว่าใช้สิทธิ์และยังสามารถสมัครรอบถัดไปของ TCAS ได้
  • ไม่ต้องดำเนินการใด ๆ เพิ่มเติม ระบบจะตัดสิทธิ์อัตโนมัติเมื่อหมดระยะเวลา
  • เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการรอสมัครรอบอื่น ๆ เช่น รอบ 3 หรือรอบ 4 ของ TCAS
  • เช่น ติด แพทยศาสตร์รอบที่ 1 กด “ไม่ใช้สิทธิ์ หรือไม่ทำการใดๆในระบบ” สามารถเลือก แพทยศาสตร์ในรอบถัดไปได้

   3. การสละสิทธิ์ คืออะไร?


   การสละสิทธิ์ คือ การที่ผู้สมัคร ยืนยันสิทธิ์ไปแล้ว แต่เปลี่ยนใจและต้องการสมัครรอบถัดไป จึงต้องดำเนินการ "สละสิทธิ์" ในระบบ myTCAS
  • การสละสิทธิ์สามารถทำได้ เพียง 1 ครั้ง ในรอบ TCAS68
  • หากทำการสละสิทธิ์ในคณะของ กสพท จะไม่สามารถสมัครคณะในกลุ่มแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยรัฐในรอบถัดไปได้ *หลักสูตรสัตวแพทย์ ไม่เข้าเงื่อนไขนี้*
  • ตัวอย่าง กด “ยืนยันสิทธิ์” คณะเภสัชศาสตร์ ในรอบที่ 1 แล้วเกิดการเปลี่ยนใจกด “สละสิทธิ์” จะไม่สามารถสมัคร คณะเภสัชศาสตร์ ในรอบต่อไปได้ แต่สามารถเปลี่ยนสาขาอื่นได้
  • ต้องดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดเท่านั้น

   การสละสิทธิ์ กสพท68

  • *สละสิทธิ์ในสาขาแพทย์
    • ไม่สามารถสมัครสาขาแพทย์ม.รัฐในรอบต่อไปได้
    • สามารถสมัคร ทันตแพทยศาสตร์,เภสัชศาสตร์,สัตวแพทยศาสตร์ หรือสาขาอื่นๆ ม.รัฐ ได้
    • สมัครสาขาแพทยศาสตร์,ทันตแพทยศาสตร์,เภสัชศาสตร์,สัตวแพทยศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยเอกชนได้
  • *สละสิทธิ์ในสาขาทันตะ
    • ไม่สามารถสมัครสาขาทันตะม.รัฐในรอบต่อไปได้
    • สามารถสมัคร แพทยศาสตร์,เภสัชศาสตร์,สัตวแพทยศาสตร์ หรือสาขาอื่นๆ ม.รัฐ ได้
    • สมัครสาขาแพทยศาสตร์,ทันตแพทยศาสตร์,เภสัชศาสตร์,สัตวแพทยศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยเอกชนได้
  • *สละสิทธิ์ในสาขาเภสัช
    • ไม่สามารถสมัครสาขาเภสัชม.รัฐในรอบต่อไปได้
    • สามารถสมัคร แพทยศาสตร์,ทันตแพทยศาสตร์,สัตวแพทยศาสตร์ หรือสาขาอื่นๆ ม.รัฐ ได้
    • สมัครสาขาแพทยศาสตร์,ทันตแพทยศาสตร์,เภสัชศาสตร์,สัตวแพทยศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยเอกชนได้

  สรุปให้เข้าใจง่าย


   ข้อควรระวังสำหรับนักเรียนและผู้ปกครอง


 
  1. เช็กกำหนดเวลา – ต้องดำเนินการในระบบให้ตรงตามเวลาที่กำหนด ไม่เช่นนั้นอาจเสียสิทธิ์ได้
  2. คิดให้รอบคอบก่อนยืนยันสิทธิ์ – การยืนยันสิทธิ์ = เลือกที่เรียนแล้ว
  3. หากไม่แน่ใจ ให้เลือก "ไม่ใช้สิทธิ์" หรือ ไม่เข้าไปทำการใดๆในระบบ – ถ้ายังลังเลกับทางเลือกของตัวเอง การไม่ใช้สิทธิ์จะทำให้สามารถสมัครรอบต่อไปได้
  4. การสละสิทธิ์มีข้อจำกัด – แม้ว่าจะเปิดโอกาสให้สมัครรอบถัดไปได้ แต่ก็อาจปิดกั้นโอกาสในการเลือกสายแพทย์ ทันตะ เภสัช ของมหาวิทยาลัยรัฐในรอบต่อๆไปได้ เพราะฉะนั้นคิดให้ดี !
  5. จำไว้นะ !! ว่าการสละสิทธิ์ไม่เหมือนการไม่ใช้สิทธิ์ สละได้แค่ 1 ครั้ง แต่ไม่ใช้สิทธิ์สามารถกดได้มากกว่า 1 ครั้ง และทำได้ทุกรอบ!
 
    การบริหารจัดการสิทธิ์ในระบบ TCAS68 โดยเฉพาะรอบ กสพท เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องศึกษาให้ละเอียด หากนักเรียนและผู้ปกครองเข้าใจระบบการยืนยันสิทธิ์ สละสิทธิ์ และไม่ใช้สิทธิ์อย่างถูกต้อง ก็จะสามารถตัดสินใจได้อย่างเหมาะสมและไม่พลาดโอกาสในการศึกษาต่อในคณะที่ต้องการ