สอบเข้ามหาวิทยาลัย

จุฬาฯ สร้าง 'อุทยาน 100 ปี' สวนสาธารณะ ปอดแห่งใหม่ของคนกรุง

UploadImage

           จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย จัดงานแถลงข่าว "อุทยานจุฬาฯ 100 ปี" เพื่อเป็นสวนสาธารณะและปอดแห่งใหม่ของกทม. บริเวณจุฬาฯ ซอย9 จรด ถ.บรรทัดทอง กว่า 30 ไร่ โดยจะจัดสรรพื้นที่สำหรับประโยชน์ในการใช้สอย แบ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ ลานกิจกรรม..

           เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 59 ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เป็นประธานงานแถลงข่าว “อุทยานจุฬาฯ 100 ปี ของขวัญอันยิ่งใหญ่ให้สังคม” เนื่องจาก จุฬาลงกรมหาวิทยาลัย จะมีอายุครบ 99 ปี ในวันที่ 26 มี.ค.นี้ และจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 100 ซึ่งตลอด 99 ปีที่ผ่านมา ได้สืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการเป็นเสาหลักของแผ่นดิน โดยมุ่งเน้นสร้างงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาของแผ่นดิน ทั้งภัยแล้ง แผ่นดินไหว น้ำท่วม ไฟไหม้ เป็นต้น และยังส่งเสริมการกีฬาสร้างนิสิตให้เป็นกำลังของนักกีฬาทีมชาติ ขณะเดียวกันก็มุ่งสร้างมหาวิทยาลัยสีเขียวโดยในโอกาสที่จะก้าวเข้าสู่ปีที่ 100 จุฬาฯ จะสร้างอุทยานจุฬาฯ 100 ปี เพื่อเป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ที่เป็นปอดแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ บริเวณจุฬาฯ ซอย 9 จรดถนนบรรทัดทอง พื้นที่ประมาณ 30 ไร่

          ทั้งนี้ ในวันที่ 26 มี.ค. 59 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงปลูกต้นจามจุรี 6 ต้น โดยต้นกล้าจามจุรีเหล่านี้เป็นต้นที่เพาะจากเมล็ดของต้นจามจุรีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปลูกไว้เมื่อปี 2505

           ด้าน รศ.นาวาเอก นพ.เพิ่มยศ โกศลพันธุ์ รองอธิการบดี จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย กล่าวว่า อุทยานจุฬาฯ 100 ปี จะสร้างโดยยึดหลักป่าในเมือง จัดแบ่งพื้นที่ของต้นไม้ที่มีพันธุ์ที่หลากหลาย ศูนย์การเรียนรู้ ลานกิจกรรมเลนจักรยาน โดยอาคารต่างๆ จะปลูกต้นไม้เพื่อเป็นอาคารสีเขียว มีประโยชน์ในการชะลอน้ำฝน และยังมีพื้นที่แก้มลิงเก็บน้ำฝน และน้ำที่ผ่านการบำบัดที่จะนำมาใช้อีกครั้ง ที่สำคัญผู้พิการด้านต่างๆ สามารถเข้าถึงอุทยานแห่งนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ตั้งเป้าหมายจะสร้างอุทยานให้เสร็จภายใน 26 มี.ค. 2560 เพื่อฉลองครบรอบ 100 ปี จุฬาฯ ขอฝากศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน บุคลากรชาวจุฬาฯ และประชาชนสนใจร่วมสมทบทุนเงินจุฬาฯ 100 ปี เพื่อร่วมกันมอบของขวัญทรงคุณค่าในโครงการอุทยานจุฬาฯ 100 ปีแก่ชุมชน

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์

คนอื่น ๆ อ่านเรื่องนี้ แล้วมักจะอ่านเรื่องต่อไปนี้ต่อ