สอบเข้ามหาวิทยาลัย

จี้ ศธ.ถอยหลังแยกเรียนสายวิทย์-สายศิลป์

         

          เครือข่ายประชาชนฯ บุกศธ.รอบ 3 ทวงถามความคืบหน้าการแก้ปัญหาการศึกษาชาติ จี้ “ดาว์พงษ์” แยกการเรียนการสายวิทย์-สายศิลป์ระดับม.ปลาย ชี้หลังให้เรียนรวมการศึกษาไทยตกต่ำมาก เหตุเด็กต้องเรียนทุกวิชาแม้ไม่ถนัด ส่งผลเรียนต่อไม่รอดในระดับมหา’ลัย ชงเอาผิดคนออกข้อสอบ สทศ. เกินหลักสูตร
          วันนี้ (29 ก.พ.) ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ประธานเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ (คปป.)และเครือข่ายพ่อแม่เยาวชนเพื่อการปฏิรูปการศึกษา พร้อมคณะเดินทางมายื่นหนังสือติดตามความคืบหน้าการปฏิรูปการศึกษา ต่อพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ โดยมี ดร.สุภัทร จำปาทอง รองปลัด ศธ.รับเรื่องแทน ซึ่งพ.ท.พญ.กมลพรรณ กล่าวว่า ตนพร้อมด้วยคณะได้มาติดตามความคืบหน้าการปฏิรูปการศึกษา หลังได้เคยยื่นข้อเสนอมาแล้วโดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แต่ก็ยัง ศธ.ก็ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ซึ่งสิ่งที่อยากให้ ศธ.เร่งดำเนินการเป็นอันดับแรกคือ การปรับลดหลักสูตรการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และให้ประกาศแยกการเรียนสายวิทย์และสายศิลป์ออกจากกัน โดยเริ่มดำเนินการทันทีในปีการศึกษา 2559 เพราะหลังจาก ศธ.ได้ดำเนินการยุบรวมการศึกษาสายวิทย์และสายศิลป์เข้าด้วยกัน ในปีการศึกษา 2548 พบว่าคุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำอย่างต่อเนื่อง เด็กต้องเรียนทุกรายวิชาอัดแน่นตามสิ่งที่ครูอยากจะสอน ทั้งที่บางวิชาเรียนไปก็ไม่ได้ใช้ ประกอบกับคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ก็มีผลในการเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยอย่างมาก เด็กบางคนไม่ได้เก่งทางด้านวิทย์แต่ได้คะแนนสังคมสูงเมื่อไปสอบเข้าไปเรียนในสาขาที่เกี่ยวกับทางวิทยาศาสตร์ก็ไม่สามารถเรียนต่อได้ ทำให้เป็นปัญหาสืบเนื่องออกไปอีก ดังนั้น ควรจะแยกการเรียนสายวิทย์กับสายศิลป์ให้ชัดเจนตั้งแต่ระดับม.ปลาย โดยให้เด็กเลือกเรียนตามความถนัดและความสนใจ ซึ่งถือเป็นการปลดล็อคระบบการศึกษาไทย พ.ท.พญ.กมลพรรณ กล่าวต่อว่า ขอให้ยุบสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เพราะสองหน่วยงานนี้ ทำงานได้ไม่คุ้มค่างบประมาณ อีกทั้งตัวชี้วัดที่ใช้ในการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ.ก็เพิ่มภาระให้แก่โรงเรียน แต่ไม่เพิ่มศักยภาพเด็กนักเรียน ในส่วนของสทศ.ข้อสอบที่ใช้ในการทดสอบต่าง ๆ ก็มีการออกข้อสอบเกินหลักสูตร ดังนั้น หากไม่ยุบสทศ.ก็ควรมีการกำหนดโทษของผู้ที่ออกข้อสอบเกินหลักสอบเพื่อจะได้ระวังและไม่ออกข้อสอบเกินหลักสูตร นอกจากนี้ ขอให้ ศธ.ควบคุมการเก็บค่าเล่าเรียนจากนักเรียน นักศึกษาและให้โรงเรียนตลอดจนมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชนทุกแห่ง เปิดเผยรายรับรายจ่ายทางเว็บไซต์ของโรงเรียนด้วย


ขอบคุณข้อมูลจาก เดลินิวส์

คนอื่น ๆ อ่านเรื่องนี้ แล้วมักจะอ่านเรื่องต่อไปนี้ต่อ