สอบเข้ามหาวิทยาลัย

ทำความรู้จัก "วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ" 18 สิงหาคม ให้มากกว่าเดิม!

หลายคนอาจจะทราบกันอยู่แล้วว่าวันที่ 18 สิงหาคมของทุกปี คือ "วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ" แต่มีน้อยคนที่จะทราบถึงที่มาของวันดังกล่าว.. วันนี้พี่ๆ Admission Premium ขอพาน้องๆ ทุกคนไปทำความรู้จักวันวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้นกันดีกว่า :)

ที่มาของวันวิทยาศาสตร์


วันนี้เมื่อ พ.ศ. 2411 เป็นวันที่เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง.. มันก็อาจจะเป็นวันปกติทั่วไป แต่ความพิเศษของวันนี้คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคำนวณพยากรณ์ไว้ล่วงหน้า 2 ปี ว่าจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ในวันอังคาร ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช 1230 
 

โดยในวันดังกล่าวได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ไปสร้างค่ายหลวงและพลับพลาที่ประทับ มีคณะนักดาราศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส และเซอร์แฮรี ออด เจ้าเมืองสิงคโปร์ เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ และร่วมในการสังเกตการณ์ และต่อมาได้มีการสร้าง "อุทยานวิทยาศาสตร์" ที่อำเภอบ้านหว้ากอ

โดยพระองค์ทรงทำนายว่าจะเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงหมดดวงและชัดเจนที่สุด คือ ที่หมู่บ้านหัววาฬ ตำบลหว้ากอ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่บริเวณ เกาะจาน ขึ้นไปถึง ปราณบุรี และลงไปถึง จังหวัดชุมพร
 
 

 

"พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระสำราญมาก
เพราะการคำนวณเวลาสุริยุปราคาของพระองค์
ได้พิสูจน์แล้วว่าถูกถ้วนที่สุด
ถูกถ้วนยิ่งกว่าที่ชาวยุโรปได้คำนวณไว้"


เซอร์แฮรี ออด ได้บันทึกเหตุการณ์ไว้
หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้แปลเป็นภาษาไทยในงานหว้ากอรำลึก
ณ ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2518


หลังจากการพยากรณ์ฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำศิลปวิทยาการ และความคิดสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการปกครองประเทศ 

ด้วยเหตุนี้องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จึงได้ประกาศยกย่องพระเกียรติคุณของพระองค์ให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้วยพระราชกรณียกิจและพระเกียรติคุณนานัปการ โดยเฉพาะพระราชกรณียกิจด้านดาราศาสตร์ 

ในวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2525 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็น "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" พร้อมทั้งกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคม เป็น "วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ" และเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2511 ได้มีการจัดงานขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 
 

อุทยานวิทยาศาสตร์หว้ากอ


จากพื้นที่ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคและสถลมารค ทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง พร้อมคณะนักดาราศาสตร์จากประเทศร่วมในการสังเกตการณ์ ณ หมู่บ้านหัววาฬ ตำบลหว้ากอ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 

จึงได้กลายเป็น "อุทยานวิทยาศาสตร์หว้ากอ" ขึ้นมา
 
ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่ออุทยานนี้ว่า "อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์" และได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้าง พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมรูปหล่อประทับนั่งบนพระเก้าอี้ฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารเรือ ชุดเดียวกับวันที่พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินมาบ้านหว้ากอ เพื่อเป็นการระลึกถึง "วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ"
 

'ดาวหาง' ที่พระองค์เคยทอดพระเนตร

 

ด้วยความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ของพระองค์นั้น นอกจากทรงพยากรณ์วันเกิดสุริยุปราคาแล้ว พระองค์ยังทรงเคยทอดพระเนตรดาวหาง 3 ดวง ด้วยกัน

โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอดูดาวบนเขาวัง ในจังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2403 พระราชทานนามว่า "หอชัชวาลเวียงชัย"
 

1. ดาวหางฟลูเกอร์กูส (Flaugergues s Comet)


เป็นดาวหางที่มีขนาดใหญ่และมีหาง 2 หาง ปรากฏ เมื่อ พ.ศ. 2355 (ในรัชสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) ขณะนั้นเจ้าฟ้ามงกฎมีพระชันษาราว 8 ปี เมื่อทรงเห็นแล้ว คงจะทรงติดตามศึกษาเรื่องดาวหางอยู่เสมอ
 

2. ดาวหางโดนาติ (Donati a Comet)


เป็นดาวหางที่มีขนาดใหญ่มาก นักดาราศาสตร์อิตาเลียนค้นพบในคืนวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2401 และคืนต่อ ๆ มา จนถึงวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2402 (รวมเวลา 9 เดือน) ชาวไทยคงจะเห็นด้วยตาเปล่า ระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม พ.ศ. 2401

ดาวหางดังกล่าวมีลักษณะเป็น 2 หาง หางหนึ่งเหยียดตรง อีกหางหนึ่งเป็นพู่โค้งสวยงามอยู่ราว 2 เดือน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกรงว่า เมื่อประชาชนเห็นดาวหางโดนาติ แล้วจะตื่นเต้นไปตามคำลือต่าง ๆ จึงทรงออกประกาศเตือนชื่อว่า "ประกาศดาวหางขึ้นอย่าได้วิตก" นับเป็นประกาศทางวิทยาศาสตร์ฉบับแรกของประเทศ มีความว่า

"ดาวหางนี้ชาวยุโรปได้เห็นมาแล้วหลายเดือน ดาวหางนี้มีคติแลทางยาวไปในท้องฟ้า แล้วก็กลับมาได้เห็นในประเทศทั้งนี้อีก เพราะเหตุนี้อย่าให้ราษฎรทั้งปวงตื่นกัน และคิดวิตกเล่าลือไปต่าง ๆ ด้วยว่ามิใช่จะเห็นแต่ในพระนครนี้ และเมืองที่ใกล้เคียงเท่านั้นหามิได้ย่อมได้เห็นทุกบ้านทุกเมืองทั่วพิภพอย่างนี้แล"

 

3. ดาวหางเทพบุท (Tebbut s Comet)


เป็นดาวหางที่มีขนาดใหญ่ หางยาว และสว่างกว่าดาวหางโดนาติ ปรากฏแก่สายตาชาวโลก ระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม พ.ศ. 2404 เป็นดาวที่พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยมากยิ่งขึ้น ถึงกับทรงได้คำนวณไว้ล่วงหน้าว่า จะปรากฏเมื่อใด และได้ทรงออกประกาศไว้ล่วงหน้า มิให้ประชาชนตื่นตระหนก ทั้งนี้เพราะพระองค์มีพระราชประสงค์มุ่งขจัดความเชื่อ เกี่ยวกับเรื่องโชคลาง และทรงให้ราษฎรตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เตรียมพร้อมที่จะเผชิญเหตุการณ์อย่างมีเหตุผลตามแบบวิทยาศาสตร์
 

สนใจเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ดีหรือเปล่านะ?


ในปัจจุบัน สาขาอาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์กำลังเป็นที่นิยมมาก เนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาด รวมทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญที่ไม่มากพอ ดังนั้นน้องๆ ที่กำลังสนใจเรียนในสาขาวิทยาศาสตร์ก็ถือว่าเลือกได้ไม่ผิดเลยทีเดียว เพราะมีหลายแขนงวิชารอน้องๆ อยู่นั่นเอง หากยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกสาขาใดดี สามารถเข้าดูรายละเอียดได้ตามลิงค์ด้านล่างเลย

กลุ่มคณะและสาขาวิชาที่เหมาะสมคือทางด้าน : วิทยาศาสตร์

 
ขอบคุณข้อมูลจาก : darasart.com / thaiastro.nectec.or.th