สอบเข้ามหาวิทยาลัย

แพทยสภามึนมหา’ลัยแห่เปิด ‘หมอ’ ห่วง ‘ไร้คุณภาพ-ล้น’

UploadImage

นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา เปิดเผยกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าขณะนี้มหาวิทยาลัยหลายๆ แห่ง ขยายการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนด้านการแพทย์ ทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และสถาบันเทคโนโลยี ทั้งที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านอื่นๆ ว่า เนื่องจากรัฐบาลได้กำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้อิสระมหาวิทยาลัยในการเปิดหลักสูตรต่างๆ ได้ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าค่อนข้างอันตราย ดังนั้น ในส่วนของแพทยสภา จะเข้มงวดหลักเกณฑ์การเปิดสอนคณะแพทยศาสตร์ให้มากขึ้น ทั้งจำนวนอาจารย์ประจำหลักสูตรที่จะต้องมีครบตามที่กำหนด รวมถึง จะต้องมีโรงพยาบาลรองรับการฝึกปฏิบัติของนักศึกษาด้วย ซึ่งเท่าที่ทราบขณะนี้มีมหาวิทยาลัยขอเปิดสอนในหลักสูตรแพทยศาสตร์แล้ว 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครปฐม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยพายัพ ขณะเดียวกันยังมีมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งขอขยายจำนวนรับนักศึกษาแพทย์ต่อปีเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนในการจัดการเรียนการสอน

นพ.สมศักดิ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การที่มหาวิทยาลัยขอเปิดสอนคณะแพทยศาสตร์ และขอขยายจำนวนรับนักศึกษาเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดข้อกังวลว่าจะขาดคุณภาพ เพราะจำนวนอาจารย์แพทย์ปัจจุบันมีจำกัด และการผลิตแพทย์สาขาใดก็ตามในปริมาณมาก จะกระทบกับคุณภาพการจัดการศึกษาตามมา อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะแพทยศาสตร์ 22 แห่ง มีนักศึษาแพทย์เข้าเรียนปีละประมาณ 3,000 คน ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการ หากผลิตเพิ่มขึ้นก็อาจล้น หรือปริมาณเกินความต้องการ ส่วนหนึ่งเพราะอัตราการเกิดลดลง แม้จะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น แต่จำนวนแพทย์ที่อยู่ในระบบกว่า 50,000 คน ยังถือว่าเพียงพอต่อความต้องการ

“ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยเปิดสอนคณะแพทย์อยู่แล้ว 22 แห่ง และกำลังจะขอเปิดเพิ่มอีกอย่างน้อย 3 แห่ง ยังไม่นับรวมการรับนักศึกษาแพทย์เข้าเรียนผ่านโครงการพิเศษต่างๆ และนักศึกษาไทยที่ไปเรียนคณะแพทยศาสตร์ในต่างประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกา ผมไม่กังวล เพราะมีคุณภาพ และได้รับการรับรอง แต่ที่กังวลคือคนที่ไปเรียนคณะแพทย์ศาสตร์ในจีน ฟิลิปปินส์ รัสเซีย โปรแลนด์ และอินเดีย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ไปเรียนในประเทศเหล่านี้ จะสอบไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์ของไทย ทั้งนี้ จะมีนักศึกษาแพทย์จบใหม่เฉลี่ยร้อยละ 6 ต่อปี ดังนั้ ผมอยากให้มหาวิทยาลัยที่เตรียมจะเปิดสอนหลักสูตรแพทยศาสตร์ดูความพร้อมของตนเองให้ดี ไม่อยากให้การผลิตแพทย์เป็นธุรกิจการศึกษา หากเปิดสอนมากเกินไป จบออกมานักศึกษาอาจไม่มีงานทำ แม้บางแห่งจะให้เหตุผลว่าเปิดสอนแพทย์เพื่อส่งออกไปทำงานยังต่างประเทศ แต่หากไม่มีคุณภาพ ก็ไม่สามารถสอบใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะผ่าน ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมาก” นพ.สมศักดิ์กล่าว

นพ.สมศักดิ์กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางแก้ไขในเบื้องต้น ทางแพทยสภาจะเข้มงวดในเรื่องการคัดกรองมหาวิทยาลัยที่จะเปิดสอนหลักสูตรแพทยศาสตร์ให้มากขึ้น หากมหาวิยาลัยใดผลิตบัณฑิตที่ไม่มีคุณภาพ สอบใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะผ่านได้น้อย ก็อาจต้องปิดหลักสูตร


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : มติชน