คำว่า มาตรฐานการรายงานทางการเงิน (TFRS : Thai Financial Reporting Standards) เป็นคำที่เรียกกันอย่างแพร่หลายในวงการวิชาชีพบัญชี รวมไปถึงบริษัทจดทะเบียนและไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มารู้จักกับคำว่า TFRS กันดีกว่าว่ามันคืออะไร ตามไปดูกันเลย
TFRS คือ มาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทย ซึ่งเป็นภาษาทางธุรกิจและแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ช่วยสื่อสารและรวบรวมธุรกรรมที่เกิดขึ้นประจำวันออกมาเป็นรูปแบบงบการเงินที่อ่านและเข้าใจง่ายแก่นักลงทุน ตลอดจนผู้ใช้รายงานทางการเงินกลุ่มอื่นๆ เช่น สถาบันการเงิน ที่ปรึกษาทางการเงิน กรมสรรพากร เป็นต้น
TFRS มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ โดยธุรกิจจะมีธุรกรรมประจำวันเกิดขึ้น ได้แก่ รายการซื้อ รายการขาย รายการรับชำระเงิน และรายการจ่ายชำระเงิน รวมถึงมีธุรกรรมเกิดขึ้นใหม่ๆ เช่น การควบรวมกิจการ เป็นต้น ธุรกรรมเหล่านั้นสามารถสะท้อนเนื้อหาที่แท้จริงของรายการแสดงอยู่ในรูปแบบของงบการเงินได้โดยใช้แนวทางที่กำหนดไว้ใน TFRS โดยจะกำหนดแนวทางในการรับรู้และวัดมูลค่าของรายการธุรกรรมต่างๆ ในงบการเงิน
TFRS จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี (Thai Accounting Standards-Setting Committee) ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความชำนาญและประสบการณ์เกี่ยวกับการบัญชี มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 15 ท่าน โดยพิจารณาจากผู้ปฏิบัติทางบัญชี สำนักงานงานสอบบัญชี ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินและการลงทุนหน่วยงานกำกับดูแลทั้งภาครัฐและตลาดทุน รวมถึงมุมมองจากอาจารย์ในมหาวิทยาลัย
โดยสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี ซึ่งมีการกำหนดพันธกิจอย่างชัดเจนในการพัฒนามาตรฐานสำหรับการประกอบวิชาชีพบัญชีสู่ระดับสากลจึงได้มีการปรับปรุงและเผยแพร่กระบวนการจัดทำมาตรฐานการรายงานทางการเงิน (Due process) เพื่อสื่อสารให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholders) ทุกภาคส่วน สามารถเข้าใจและนำมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และช่วยให้เกิดความโปร่งใสและรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึง
มีทั้งหมด 6 เกณฑ์ในการวัดมาตรฐาน คือ
1. การศึกษา วิจัย และติดตาม IFRS (มาตรฐานรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ) โดยคณะอนุกรรมการศึกษาและติดตาม IFRS จะดำเนินการศึกษาและติดตาม IFRS ที่อยู่ระหว่างการจัดทำของคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (IASB) และพิจารณาเนื้อหาของร่าง IFRS นั้นตลอดจนวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อธุรกิจที่มีการนำ IFRS เหล่านั้นไปปรับใช้ในอนาคต
2. การวางแผนงานในการจัดทำ TFRS โดยคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีจะวางแผนในการจัดทำ TFRS โดยพิจารณาจากแผนการจัดทำ IFRS ของ IASB ซึ่งหากมีมาตรฐานฯที่มีการเปลี่ยนแปลงซับซ้อนและอย่างมีนัยสำคัญคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีจะมีการสื่อสารผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงล่วงหน้าอย่างน้อย 2 ปี ก่อนวันถือปฏิบัติของมาตรฐานฯ
3. การจัดทำมาตรฐานการรายงานทางการเงิน โดยคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชียกร่างมาตรฐานการรายงานทางการเงินเป็นภาษาไทยจาก IFRS ที่เป็นภาษาอังกฤษ และนำผลกระทบในการนำมาใช้ในประเทศไทยจากการศึกษาของคณะอนุกรรมการติดตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศมาพิจารณา
4. การจัดสัมมนาทำความเข้าใจ หรือสัมมนาพิจารณ์ร่างมาตรฐานการรายงานทางการเงิน คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีจะเผยแพร่ร่างมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับภาษาไทยผ่านทางเว็บไซต์สภาวิชาชีพบัญชี และดำเนินการจัดสัมมนาทำความเข้าใจหรือสัมมนาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นและผลกระทบจากการนำมาตรฐานการรายงานทางการเงินไปใช้ โดยระยะเวลาที่ใช้ในการจัดการสัมมนาพิจารณ์จะต้องมีความเหมาะสม เพียงพอ และสอดคล้องกับความยากง่ายหรือความซับซ้อนของมาตรฐานการรายงานทางการเงินในแต่ละเรื่อง
5. การนำเสนอร่างมาตรฐานการรายงานทางการเงินต่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรองมาตรฐานการบัญชี คณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชี และคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยระยะเวลาในการนำเสนอ 1 เดือนในแต่ละคณะ พร้อมทั้งรายงานความคืบหน้าเป็นระยะๆ ถึงการนำเสนอร่างมาตรฐานฯ ว่าได้มีการดำเนินการไปถึงคณะกรรมการชุดใดผ่านบนเว็บไซต์สภาวิชาชีพบัญชี
6. กระบวนการหลังจากที่มาตรฐานได้รับการเผยแพร่ หลังจากที่มาตรฐานการรายงานทางการเงินประกาศลงราชกิจจานุเบกษา คณะอนุกรรมการเทคนิคมาตรฐานการบัญชีจะจัดทำคู่มืออธิบายมาตรฐานการรายงานทางการเงินดังกล่าวเพื่อสรุปการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบของมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป
ดูคลิปเต็มได้ที่นี่