สอบเข้ามหาวิทยาลัย

มายรัม แนะซีอีโอไทยเร่งเครื่องด้วยดิจิทัล ทรานส์ฟอร์มเมชั่น เพื่อแข่งขันในยุคไทยแลนด์ 4.0

UploadImage


มายรัม เผยผลสำรวจ “กรุงเทพธุรกิจ 100 CEOs Survey” ชึ้ความเคลื่อนไหวภายในรอบปีนี้ได้เปลี่ยนผ่านผู้ประกอบการสู่ยุคดิจิทัลเต็มตัว ซีอีโอ 100% เห็นความสำคัญและเร่งใช้กลยุทธ์ดิจิทัลขับเคลื่อนองค์กรแล้ว จากเมื่อต้นปียังมีกลุ่มตัวอย่าง 20% ที่มองว่าดิจิทัลเริ่มมีความจำเป็นในการดำเนินธุรกิจ ในขณะที่ปัจจุบัน 48.24% ระบุว่าองค์กรของตนก้าวสู่ยุคดิจิทัล 3.0 ที่มีการสื่อสารและทำงานต่างแพลตฟอร์มได้ มีแอพพลิเคชั่นบริการลูกค้ามากขึ้น แนะผู้ประกอบการไทยควรเร่งมือปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล ทรานส์ฟอร์มเมชั่น ยกระดับสินค้าและบริการสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 เพื่อแข่งขันในตลาดโลกและสร้างรายได้มากขึ้น
 
นางสาวอุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชั่น บริษัท มายรัม (ประเทศไทย) จำกัด เครือข่ายดิจิทัลเอเยนซี่กลุ่ม WPP กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของเทคโนโลยีดิจิทัลของคู่แข่ง และแรงผลักดันจากรัฐบาลส่งผลให้วิสัยทัศน์ซีอีโอเปลี่ยนแปลงสู่การสร้างสรรค์กลยุทธ์ดิจิทัลเข้ากับองค์กร พร้อมเร่งเครื่ององค์กรสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ผ่านการสำรวจ “กรุงเทพธุรกิจ 100 CEOs Survey” ว่า “ความคิดเห็นของซีอีโอต่อการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ พบว่า ซีอีโอเกือบทุกอุตสาหกรรมเห็นความสำคัญและเห็นว่าธุรกิจต้องเร่งปรับตัวรับกระแสเศรษฐกิจดิจิทัล เมื่อเปรียบเทียบระดับการใช้งานดิจิทัลใน 100 องค์กรที่ตอบแบบสอบถาม พบว่ามีสัดส่วน ดังนี้


 
ดิจิทัล 1.0 มีการใช้อินเตอร์เน็ตและเว็บไซต์ทั่วไป 9.41%
ดิจิทัล 2.0 มีแพลตฟอร์มของการตลาดที่สื่อสารตรงกับผู้บริโภคได้ อาทิ โซเชียลมีเดีย ในวงกว้าง 28.24%
ดิจิทัล 3.0 มีระบบการสื่อสารแบบคลาวด์คอมพิวติ้ง สามารถเชื่อมการทำงานต่างแพลตฟอร์ม เกิดบริการ แอพพลิเคชั่น , Online Service , Omni channel , Mobile etc. 48.24%
ดิจิทัล 4.0 เริ่มใช้กลยุทธ์ดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเพื่อธุรกิจ ให้การสื่อสารและการทำงานเกิดขึ้นเองอัตโนมัติ ผ่านเทคโนโลยี Machine-2-Machine หรือ IoT 14.12%
 
โดย ซีอีโอกว่า 65.88% เข้าใจและเร่งปรับตัวสู่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นแล้ว 22.35% เริ่มเรียนรู้แต่ยังต้องศึกษาอยู่ ในขณะที่องค์กรใหญ่ๆ ในสัดส่วน 11.76% ระบุชัดว่าองค์กรของตนเข้าใจดีมากและก้าวเป็นผู้นำที่มีศักยภาพด้านการใช้กลยุทธ์ดิจิทัลในภาคธุรกิจของตัวเอง สอดคล้องกับความเห็นต่อแนวโน้มทางธุรกิจในประเทศไทยที่ต้องปรับตัวรับกระแสเศรษฐกิจดิจิทัลที่สูงถึง 91.67% มากกว่าการปรับตัวสู่การค้าเออีซีที่มีอันดับรองลงมาที่ 40.48% เกือบเท่าตัว
 
 
เมื่อถามถึงอิทธิพลของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจในระยะ 1-2 ปีนับจากนี้ การใช้งานประเภทโซเชียลมีเดียและแอพพลิเคชั่นยังคงได้รับความนิยมจากบรรดาซีอีโอไทย 39.29% ในขณะที่อีคอมเมิร์ซ หรือ ออมนิแชแนล และระบบลูกค้าสัมพันธ์มีสัดส่วนตามมาที่ใกล้เคียงกัน คือ 26.19% และ 22.62% และกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เป็นอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าเริ่มมองหาเทคโนโลยีของระบบควบคุมการผลิตทางไกลผ่านอินเตอร์เน็ต (IoT in the operational process) 11.9% ซึ่งคาดว่าน่าจะมีอัตราเติบโตในส่วนนี้ได้อีก หากนวัตกรรมการผลิตและสินค้าของไทยพัฒนาตามตลาดโลกได้ทัน
 
คุณอุไรพร แนะนำผู้ประกอบการในการนำองค์กรสู่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น หลักการง่ายๆ เริ่มจากเข้าใจความสามารถและเป้าหมายในองค์กรแต่ละส่วน การเลือกใช้เครื่องมือจะมากน้อยขึ้นอยู่กับลักษณะธุรกิจ นโยบายและการวางกลยุทธ์ดิจิทัลแตกต่างกันตามตัวแปรที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจ โดยค่อยๆ ปรับกลยุทธ์ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นทีละส่วน ทั้งฝ่ายขาย ฝ่ายบริการลูกค้า ฝ่ายผลิต ฝ่ายการเงิน ฯลฯ จนครอบคลุมทั้งองค์กร นอกจากนี้ ยังขยายผลสู่ระบบงานร่วมกันกับคู่ค้าได้ด้วย เพื่อให้ทำงานประสานสอดคล้องกันและช่วยเหลือด้านองค์ความรู้และทรัพยากรส่วนกลางที่สามารถใช้ได้ร่วมกันได้ นอกเหนือจากอีคอมเมิร์ซ เราสามารถต่อยอดได้อีกสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาบริหารร่วมกับระบบลูกค้าสัมพันธ์ CRM นั้น เป็นสิ่งที่จะช่วยพัฒนาการทำงานโดยเฉพาะการสนับสนุนงานขายให้องค์กรได้อีกมาก
 
“ดิจิทัลไม่ใช่เป็นส่วนที่แยกออกจากธุรกิจอีกต่อไป ปัจจุบันนี้ ไม่ว่าลูกค้าหรือคู่แข่งต่างก็ใช้สมาร์ทโฟนหรือดิจิทัลในมือสืบหาข้อมูลหรือซื้อขายได้ทันทีแล้ว ทำให้ขั้นตอนการซื้อขายและการดูแลลูกค้าผ่านออนไลน์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่ซีอีโอทั้งหลายควรเตรียมตัวและคาดการณ์ได้ก่อน คือ นวัตกรรมจากผู้เล่นหน้าใหม่ที่พร้อมเข้าแข่งขันในอุตสาหกรรมเดียวกับเราได้เสมอ จากนี้ไปอนาคตของการแข่งขันในตลาดทุกอุตสาหกรรม จำเป็นต้องพึ่งพานวัตกรรม innovation ให้เกิดขึ้นในองค์กร เนื่องจากผู้บริโภคในยุคดิจิทัลเป็นคนกำหนดความต้องการและเป็นผู้เลือกสินค้าและบริการเอง ธุรกิจจึงต้องปรับตัวจัดแผนรุกหรือตั้งรับให้ทัน ปัจจัยทั้งหลาย อาทิ วิสัยทัศน์ กลยุทธ์ดิจิทัล การลงทุน นวัตกรรม ทีมปฏิบัติงานและพันธมิตร คือ สิ่งสำคัญที่จะเร่งเครื่องให้ธุรกิจถึงเป้าหมายได้ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ปัจจัยที่จะดึงดูดลูกค้า คือ ความเร็ว ง่าย สะดวก มีบริการที่แตกต่าง จะสร้างผลลัพธ์ที่ผู้ประกอบการต้องการได้” คุณอุไรพรกล่าวทิ้งท้าย  
 
 

UploadImage 

รู้จักคณะ/ สาขาเรียน ที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล คลิกที่นี่