สอบเข้ามหาวิทยาลัย

'นักวิชาการ' พอใจระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ปี 61 มั่นใจแก้ปัญหาเด็กวิ่งรอกสอบหลายที่ได้

       “สมพงษ์” พอใจระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ปี 61 มั่นใจแก้ปัญหาเด็กวิ่งรอกสอบหลายที่ได้ ติงสอบหลายกลุ่มวิชาในช่วงเวลาเดียวกันอาจทำเด็กเครียด แนะ ทปอ.ลดความซ้ำซ้อนในการจัดสอบ

UploadImage

       วันนี้ (4 พ.ย.) ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวถึงกรณีการปรับระบบการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ซึ่งจะเริ่มปีการศึกษา 2561 โดยมีหลักการเพื่อให้เด็กเรียนในระบบการศึกษาจนจบหลักสูตรม.ปลาย ,ลดการวิ่งรอกสอบ,ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง,ให้เด็กได้เลือกเรียนตามศักยภาพและ มหาวิทยาลัยได้คนตามที่ต้องการ และแบ่งการสอบเป็น3 ระบบ ได้แก่ การคัดเลือกโดยระบบโควต้าที่ไม่ใช้การสอบ, ระบบการคัดเลือกโดยใช้ข้อสอบกลาง  และระบบการรับตรงที่ให้อิสระกับมหาวิทยาลัยดำเนินการโดยต้องไม่มีการจัดสอบนั้น ว่า ข้อสรุปของทปอ.ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ทปอ.ยอมรับระบบสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยสร้างปัญหาให้กับสังคม ทั้งการเร่งเด็กเรียนให้จบหลักสูตร การกวดวิชา วิ่งรอกสอบ เกิดภาระค่าใช้จ่ายที่สูง เป็นต้น ซึ่งการยอมรับครั้งนี้ก็ถือเป็นความกล้าหาญที่น่าชื่นชม แต่ตนอยากให้ ทปอ.ออกมาขอโทษสังคม เพราะหากไม่มีนโยบายของพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ก็ไม่รู้ว่า เราต้องอยู่กับปัญหาการสอบคัดเลือกนี้ไปอีกนานเท่าไร และต่อไปหากทปอ.จะคิดดำเนินการสิ่งใดก็ขอให้คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมไทย  ไม่ควรมุ่งแต่จะหารายได้ให้มหาวิทยาลัยอยู่รอด

       ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนระบบการคัดเลือกที่แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มนั้น ตนเห็นว่าเป็นการปรับระบบให้กระชับขึ้น โดยรวมระบบแอดมิชชั่นกลาง ที่ใช้การสอบโอเน็ต, คะแนนจีแพคซ์ แบบวัดความถนัดทั่วไปหรือ GAT และ แบบวัดความถนัดทางวิชาการหรือวิชาชีพ หรือ PAT รวมกับการสอบวิชาสามัญ 9 วิชา โดยจัดสอบในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งตนขอตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะทำให้เด็กเกิดความเครียด และวิธีดังกล่าวจะลดการกวดวิชาได้จริงหรือไม่ 

       “ผมเห็นว่าในเมื่อ ทปอ.ระบุว่า ผลวิจัย GAT และ PAT เป็นข้อสอบที่มีคุณภาพ สามารถคัดเลือกเด็กและทำนายผลได้ว่า เด็กจะเรียนมหาวิทยาลัยได้จนจบ  ก็ควรลดจำนวนวิชาสอบลง หรือ รวม GAT และ PAT กับ วิชาสามัญ 9 วิชา ด้วยกัน เพราะซ้ำซ้อน ทำให้เด็กสอบมากเกินความจำเป็น นอกจากนี้ก็อยากขอเหตุผลด้วยว่า ทำไม กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) จึงสามารถแยกตัวมาสอบได้เองแม้จะเป็นช่วงเวลาเดียวกัน และจัดสอบเด็กทั่วประเทศเช่นเดียวกัน หากกลุ่มแพทย์ทำได้เช่นนี้ เพราะเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญ แล้วกลุ่มคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์  หรือกลุ่มอื่นๆ ก็มีความสำคัญเช่นกัน ก็จะขอแยกจัดสอบด้วยจะได้หรือไม่ ทั้งนี้ ทปอ.และ กสพท.ก็ต้องชี้แจงกับสังคมด้วย” ศ.ดร.สมพงษ์



ขอบคุณที่มา : เดลินิวส์