สอบเข้ามหาวิทยาลัย

นิว บิซิเนส ดีเอ็นเอ วิชั่น “สร้างคน” ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์

UploadImage

นับเป็น “ผู้บริหารรุ่นใหม่” อีกคนหนึ่งที่มี “พลังงานเหลือล้น” สำหรับ “ดร.แพรว” ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ ที่ระยะเวลาเพียง 5 เดือนหลังจากก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) ก็เดินหน้าขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้เดินหน้าตามนโยบายการขับเคลื่อนประเทศ “ไทยแลนด์ 4.0” ทันที

ดร.ดาริกาเป็นทายาทรุ่นที่ 3 หลานของผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย สั่งสมประสบการณ์ด้านการศึกษามาเกือบ 20 ปี จบการศึกษาปริญญาตรีด้วยคะแนนเกียรตินิยมด้านเคมีและการจัดการ ที่อิมพีเรียลคอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน จบการศึกษาปริญญาโทด้านเอ็มบีเอในสถาบันเดียวกัน และปริญญาเอกด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์

ในวัย 45 ปี เธอก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งอธิการบดีคนใหม่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

“หลังจากเข้ามารับตำแหน่งก็ได้เริ่มฟอร์มทีมงานและปรับกลยุทธ์การบริหารให้คมและชัด โดยจะให้ทุกคณะในมหาวิทยาลัยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน

“โดยวิสัยทัศน์ของเราคือจะเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันธุรกิจใหม่ (new business) ในการผสมผสานไชน่ากับอาเซียนเข้าด้วยกัน คำนี้ 1 ประโยค เรียกสั้นๆ ว่า นิว บิซิเนส ดีเอ็นเอ หรือ นิว บิซิเนส เออีซี บวก ไชน่า” อธิการบดีคนสวยกล่าว และว่า

“ตอนนี้ทำการบ้านเยอะเพราะต้องปรับหลักสูตรใหม่ทั้งหมด โดยเริ่มจากปรับเนื้อหาวิชาการ แล้วค่อยมาดูระดับหลักสูตร ตอนนี้ก็ไล่ดูเป็นรายหลักสูตร ซึ่งมี 100 กว่าหลักสูตร

“โดยการทำงานทั้งหมดอยู่บนแผนระยะเวลา 5 ปี ทั้ง 100 หลักสูตรจะถูกปรับให้เดินไปในทางเดียวกัน คือ นิว บิซิเนส ดีเอ็นเอ”

นอกจากเนื้อหาวิชาและหลักสูตรที่ให้ความสำคัญแล้ว ผู้หญิงเก่งคนนี้ยังให้ความสำคัญกับบรรยากาศการเรียนการสอนที่ต้องก้าวให้ทันโลกด้วย

“นอกจากเนื้อหาวิชาที่ต้องสอดคล้องกับวิสัยทัศน์มหาวิทยาลัยแล้ว การเรียนการสอนจะทำยังไงให้เป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้นในคอนเซ็ปต์ของนิว บิซิเนส ดีเอ็นเอ สถานที่ต่างๆ ต้องดิจิตอลมากขึ้น เด็กสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ไหนก็ได้ จะหอพักหรือห้องนอนสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ได้ เรากำลังดูอยู่เพื่อให้เข้ากับไลฟ์สไตล์เด็กเจนแซด”

โดยหนึ่งหลักสูตรที่ ดร.แพรวใช้เวลา 6 เดือนในการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์การทำธุรกิจในยุคปัจจุบันที่มีสื่อเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างภาพลักษณ์ ชื่อเสียงและยอดขาย คือ หลักสูตรระยะสั้น “การบูรณาการด้านสื่อและกลยุทธ์ของสินค้า-บริการ” (Media Appreciation and Product-service Strategies หรือ MAPS)

“การทำแบรนดิ้ง ตอนนี้ต้องใช้หลายๆ อย่าง สื่ออาจจะ 80 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำไปที่จะช่วยให้ธุรกิจนั้นๆ ประสบความสำเร็จ เพราะเป็นช่องทางการเข้าถึงผู้บริโภค คอร์สนี้เน้นสื่อใหม่ โดยเฉพาะสื่อดิจิตอลทั้งหลายที่อยู่รอบตัวเรา เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นลักษณะเล่าประสบการณ์และแชร์ประสบการณ์ พาไปดูของจริง ทำเวิร์กช็อป โดยจะมีวิทยากรที่มาให้ความรู้เป็นผู้บริหารที่อยู่ในอุตสาหกรรมหลักๆ ที่ขับเคลื่อนประเทศไทยตามนโยบายประเทศไทย 4.0

“ซึ่งที่ให้ความสำคัญกับนิว บิซิเนส เพราะจะได้ช่วยประเทศชาติด้วย” ดร.ดาริกาย้ำ

นั่นคือความ “ตั้งใจ” ของอธิการบดีคนเก่ง ที่ถ้าจะว่าไปแล้ว เธอน่าจะเป็น “อธิการบดีที่สวยที่สุด” ในประเทศไทย ผู้หญิงตัวเล็กๆ ใบหน้าหวานๆ ผมยาวสลวยปฏิเสธทันที

“ก็ยังมีอธิการบดีหลายคนที่ยังปิ๊งอยู่นะ”

เรื่องความสวยแม้จะไม่ใส่ใจ แต่เรื่องงานนั้นเธอให้ใจไปเต็มๆ

“อยู่ในวงการนี้มานาน และอยู่ที่นี่มานาน เมื่อก้าวเข้าสู่ตำแหน่งนี้ก็พยายามพัฒนาต่อยอดจากผู้บริหารชุดเดิมที่ท่านสร้างอะไรไว้ให้ และก็เป็นแฟลตฟอร์มที่ดีที่จะทำอะไรหลายๆ อย่างได้ ซึ่งก็ตั้งใจว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้าเราจะไปถึงเป้าหมายอย่างที่เราตั้งใจไว้ในทุกๆ มิติ” ดร.ดาริกาทิ้งท้าย

โฉมใหม่ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์อยู่ภายใต้การบริหารของเธอ

UploadImage


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : มติชนออนไลน์

คนอื่น ๆ อ่านเรื่องนี้ แล้วมักจะอ่านเรื่องต่อไปนี้ต่อ