สอบเข้ามหาวิทยาลัย

ออกมาอีกเสียง “อ.จวง” ติวเตอร์วิชาสังคม ยืนยันข้อสอบโอเน็ตผิดมากกว่า 1 ข้อ

 

 

 

ชี้ความผิดพลาดในการออกข้อสอบโอเน็ต สะท้อนความล้มเหลวการทำงานของ สทศ. ย้ำต้องการให้พัฒนาประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อเด็กรุ่นต่อไป

 

ปมปัญหาการออกข้อสอบและเฉลยข้อสอบ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ “โอเน็ต” ระดับชั้น ม.6 วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งจัดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ยังคงเป็นประเด็นร้อนในแวดวงการศึกษาไทย ภายหลัง “อาจารย์ปิง ดาว้องก์” ติวเตอร์ชื่อดังวิชาภาษาไทยและสังคม ออกมาเปิดเผยผ่านการเฟซบุ๊กไลฟ์ว่าข้อสอบในปีนี้ นอกจากหลายข้อจะกำกวมและคำตอบขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนแล้ว ยังมีข้อสอบที่เฉลยผิดซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงตามหนังสือแบบเรียน ซึ่งส่งผลให้นักเรียนบางคนไม่ได้รับความยุติธรรม และอาจเสียคะแนนมากที่สุดถึง 90 คะแนน

UploadImage

ภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ: Davance FC

 

อาจารย์ปิง ระบุว่าการออกมาพูดในครั้งนี้ไม่อยากให้มองว่าเป็นการออกมาแฉ แต่ต้องการให้มีการแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นไม่ให้เกิดซ้ำอีกในปีถัดไป ไม่เช่นนั้นโรงเรียนต่างๆ จะอ้างอิงคำตอบที่ผิดเป็นมาตรฐาน พร้อมย้ำว่าไม่ได้ต้องการโทษผู้ออกข้อสอบหรือผู้เกี่ยวข้อง เพราะไม่ทราบว่าความผิดพลาดเกิดขึ้นในขั้นตอนไหน แต่อยากให้ทุกฝ่ายได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และนำไปพัฒนาต่อเพื่อประโยชน์ต่อนักเรียนรุ่นต่อไป

 

สำหรับภาพรวมข้อสอบในปีนี้ ติวเตอร์ชื่อดังบอกว่าแม้จะอยู่ในมาตรฐานที่ดี แต่มีหลายข้อที่คำตอบผิดไปจากข้อเท็จจริง รวมไปถึงข้อที่กำกวมไม่รู้จะเลือกตอบข้อไหนให้ถูก เพราะคำตอบขึ้นอยู่กับใจผู้ออกข้อสอบซึ่งถือว่าไม่ดี การออกข้อสอบที่ดีควรวัดที่ความจริง เนื่องจากมุมมองของแต่ละคนอาจไม่ตรงกัน

 

ทั้งนี้ อาจารย์ปิง ได้ตัวอย่างข้อสอบที่เฉลยคำตอบผิดไปจากข้อเท็จจริง เช่น

 

ข้อที่ 63 ข้อใดเป็นสนธิสัญญาการค้าฉบับแรกระหว่างไทยกับตะวันตก มีตัวเลือก ดังนี้ 1.สนธิสัญญาครอว์ฟอร์ด 2.สนธิสัญญาเบอร์นีย์ 3.สนธิสัญญาบรุด 4.สนธิสัญญาเบาว์ริง 5.สนธิสัญญาปาวี ซึ่งเฉลยคำตอบของ สทศ. ให้ ข้อ 4.สนธิสัญญาเบาว์ริง เป็นคำตอบที่ถูกต้อง แต่เมื่ออ้างอิงตามหนังสือวิชาประวัติศาสตร์ไทย ม.4 – ม.6 รับรองโดยกระทรวงศึกษาธิการ คำตอบที่ถูกต้องจริงๆ คือ ข้อ 2.สนธิสัญญาเบอร์นีย์ ตามเนื้อหาที่ระบุว่าไทยลงนามไมตรีและพาณิชย์ฉบับแรกกับอังกฤษในปี 2369 หรือเรียกว่า “สนธิสัญญาเบอร์นีย์” และกับสหรัฐอเมริกาในปี 2376

 

ข้อที่ 85 ผลของการเปิดเสรีทางการค้าต่อไทยคือข้อใด มีตัวเลือก ดังนี้ 1.เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 2.เกิดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจ 3.เกิดการครอบงำจากต่างชาติ 4.ใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 5.คนรวยและคนจนมีฐานะต่างกันต่างกันชัดเจนขึ้น (ข้อนี้ต้องตอบ 2 ข้อ) ตามเฉลยของ สทศ. ให้ถูกคือ ข้อ 1.เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และ ข้อ 4.ใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่เมื่ออ้างอิงตามหนังสือวิชาเศรษฐศาสตร์ ม.4 – ม.6 พบว่าตัวเลือกทั้ง 5 ข้อล้วนเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปิดเสรีทางการค้าทั้งสิ้น

 

ส่วนข้อที่ถูกมองว่าคำถามกำกวมและสามารถมองได้หลายมุม เช่น

 

ข้อที่ 18 เพราะเหตุใดจึงมีคำกล่าวที่ว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” มีตัวเลือก ดังนี้ 1.มนุษย์สามารถสร้างกฎเกณฑ์เพื่อการอยู่ร่วมกันโดยใช้สัญลักษณ์ 2.มนุษย์สามารถปรับตัวได้ดีกับสิ่งแวดล้อม 3.มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันเป็นหมู่เหล่า 4.มนุษย์สามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้ 5.มนุษย์สามารถสื่อสารระหว่างกัน ตามเฉลยของ สทศ. ให้ ข้อ 1.มนุษย์สามารถสร้างกฎเกณฑ์เพื่อการอยู่ร่วมกันโดยใช้สัญลักษณ์ เป็นคำตอบที่ถูก แต่เมื่ออ้างอิงจากหนังสือหน้าที่พลเมือง ม.4 – ม.6 คำตอบ ข้อ 3.มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันเป็นหมู่เหล่า ก็ถูกต้องเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม นายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการ สทศ. ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าได้ให้อาจารย์ผู้ออกข้อสอบ ตรวจสอบข้อสอบและเฉลยคำตอบทุกข้ออีกครั้งแล้ว ซึ่งผู้ออกข้อสอบยืนยันว่ามีข้อสอบที่เฉลยผิดเพียง 1 ข้อ คือข้อ 88 ตามที่ สทศ.ได้แจ้งไปก่อนหน้านี้

 

เช่นเดียวกับ พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ระบุว่าทาง สทศ. ได้ชี้แจงว่าได้ให้ผู้ทรงคุณวุฒิผู้ออกข้อสอบ ตรวจทานข้อสอบแล้ว ยืนยันว่าพบเพียงข้อเดียวที่ผิดพลาด ส่วนข้ออื่นๆ ยืนยันว่าถูกต้องแล้ว

 

ขณะที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นำข้อสอบโอเน็ตมาเฉลยแล้วตรวจสอบภายหลังพบว่ามีข้อที่ผิดพลาดว่า การเฉลยข้อสอบมีความจำเป็นเพราะนักเรียนจะได้ทราบว่าทำถูกหรือผิด ถ้าไม่เฉลยก็ไม่มีความรู้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการเฉลย ส่วนข้อสอบที่ออกผิดต้องเข้าใจว่าข้อสอบที่ออกมีจำนวนมาก อาจจะมีความบกพร่องได้แต่มีการแก้ไขปรับปรุง ส่วนการเอาผิดผู้ออกข้อสอบทางกระทรวงศึกษาธิการมีมาตรการรองรับอยู่แล้ว

 

แม้จะมีการยืนยันว่าข้อสอบผิดพลาดเพียงข้อเดียว แต่ทีมนิวมีเดีย PPTV ได้สอบถามไปยังติวเตอร์วิชาประวัติศาสตร์และสังคมศึกษา ชื่อดังที่ทุกคนรู้จักในนาม “อาจารย์จวง ปารมี ไวจงเจริญ” ได้รับคำยืนยันว่าข้อสอบโอเน็ตวิชาสังคมในปีนี้ ผิดมากกว่า 1 ข้อ ตามที่ อาจารย์ปิง ออกมาระบุจริง ไม่ใช่ผิดข้อ 88 เพียงข้อเดียว ตามที่หน่วยงานรัฐระบุ

UploadImage

ภาพจากเฟซบุ๊ก: ปารมี ไวจงเจริญ

 

อาจารย์จวง บอกว่า เป็นที่ชัดเจนว่าในปีนี้ข้อสอบวิชาสังคมมีปัญหาหลายข้อ ทั้งในข้อที่คำเฉลยผิดไปจากข้อเท็จจริง เช่น ข้อที่ 63 ข้อใดเป็นสนธิสัญญาการค้าฉบับแรกระหว่างไทยกับตะวันตก คำตอบที่ถูกจริงๆ คือ ข้อ 2.สนธิสัญญาเบอร์นีย์ ไม่ใช่ ข้อ 4.สนธิสัญญาเบาว์ริง ในขณะที่ข้อที่มีการตั้งคำถามกำกวม โดยที่ตัวเลือกที่ให้มานั้นถูกต้องมากกว่าที่ สทศ. ให้คะแนน หรือที่จริงแล้วสามารถตอบได้มากกว่าตัวเลือกที่กำหนดให้นั้น ข้อสอบลักษณะนี้ไม่ควรบรรจุไว้ในข้อสอบระดับชาติ ควรตั้งคำถามให้ชัดเจนเพื่ออ้างอิงคำตอบที่ถูกต้องและเป็นข้อเท็จจริง ซึ่งในทางปฏิบัติผู้ออกข้อสอบสามารถทำได้แม้ว่าวิชาสังคม ในบางหัวข้อจะสามารถลื่นไหลหรือสามารถมองได้หลายมุมมองก็ตาม 

 

“จริงๆ แล้วทุกปีการสอบโอเน็ตมีปัญหามาตลอด แต่ปีนี้ที่ชัดเจนเพราะนายกรัฐมนตรีสั่งให้เผยแพร่คำเฉลย เมื่อเกิดข้อผิดพลาดหลายข้อเลยกลายเป็นประเด็นใหญ่ ซึ่งแม้จะไม่ทราบว่าปัญหาเกิดขึ้นที่ตรงไหน แต่ก็สะท้อนถึงความล้มเหลวในการปฏิบัติงาน ส่วนตัวจึงมองว่าการออกข้อสอบระดับชาติ ในครั้งต่อไปจำเป็นต้องมีคุณภาพและมาตรฐานที่ดีกว่านี้ ไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อตัวเด็กโดยตรง เพราะอย่างลืมว่าคะแนนเพียงคะแนนเดียว ก็มีผลต่อการเข้าเรียนในคณะที่เด็กๆ ใฝ่ฝัน จึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นใจเด็กบ้าง”

 

ทั้งนี้ อาจารย์จวง เสนอว่าเพื่อเป็นการป้องกันข้อผิดพลาดในปีถัดไป กระทรวงศึกษาธิการ สทศ. และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเปิดให้หลายฝ่ายเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดโครงสร้างข้อสอบ เพื่อยกประสิทธิภาพของข้อสอบให้ดีขึ้น ขณะเดียวกัน สทศ. ควรต้องกรรมการออกข้อสอบ 2 ชุด โดยไม่ต้องเปิดเผยรายชื่อก็ได้ โดยให้ชุดแรกเป็นผู้ออกข้อสอบ ส่วนชุดที่สองเป็นผู้ตรวจทานอย่างละเอียดรอบครอบ เพื่อป้องกันความผิดพลาดและเกิดประโยชน์ต่อนักเรียนมากที่สุด



ขอบคุณข้อมูลจาก : PPTV