ถือเป็นอีกหนึ่งวิชาเรียนที่สำคัญและจำเป็นสำหรับยุคที่ข้อมูลข่าวสารล้นทะลักอย่างเช่นปัจจุบันมากๆ กับวิชา
"รู้เท่าทันข่าวปลอม" ของโรงเรียนมัธยม
Wakefield High School ในรัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ทุกคนต่างมีสื่อและสามารถเข้าถึงข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ได้ง่ายและมากมาย (จนเกินไป)
โดยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จะได้เรียนรู้การแยกแยะข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่มากมายบนโลกอินเตอร์เน็ต ด้วยคำแนะนำจากอาจารย์วิชาสังคม
Patricia Hunt ที่ใช้หลักสูตรออนไลน์
Checkology ที่ให้นักเรียนรู้จักตัวอย่างของข่าวสารและข้อมูลที่บิดเบือน ชี้นำ และหลอกลวง
โดยอาจารย์ Patricia บอกว่า เด็กๆ ได้รับข้อมูลข่าวสารมากมาย ทั้งสิ่งที่เป็นข่าวจริง ข่าวปลอม ข่าวลือ และข้อมูลที่บิดเบือน ซึ่งเธอก็หวังว่าวิชานี้จะช่วยให้เด็กๆ มีความรู้ความเข้าใจและแยกแยะได้ว่าสิ่งใดคือข่าว และระบุถึงข้อมูลที่มีอคติ ข่าวลวง รวมทั้งโฆษณาชวนเชื่อ
ด้าน
Alan Miller ผู้ก่อตั้งองค์กร
News Literacy Project ที่มีหลักสูตรออนไลน์ Checkology นี้ บอกว่า วัยรุ่นรับรู้ข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ และมักเชื่อข้อมูลที่พวกเขาได้รับจากเพื่อนฝูง และสิ่งที่น่าตกใจคือ เด็กๆ ส่วนใหญ่เชื่อว่า ข้อมูลที่พวกเขาพบเห็นบนโลกออนไลน์คือข้อมูลจริง และพร้อมที่จะเผยแพร่ต่อโดยไม่กลั่นกรอง
ขณะที่วัยรุ่นในระดับมัธยมปลายจะมองว่า ข้อมูลข่าวสารที่อยู่บนโลกออนไลน์ จะต้องเลือกข้าง หรือมีนัยสำคัญบางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่พวกเขาขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ เมื่อได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นมา
บรรดานักเรียนที่เข้าร่วมเรียนวิชานี้ ต่างบอกว่า
พวกเขาเริ่มระมัดระวังในการติดตามข่าวสาร โดยสามารถบอกได้ว่าข่าวไหนจริง ข่าวไหนปลอม และสิ่งที่พวกเขาต้องการจะรู้ในข่าวเหล่านั้น ตอนนี้พวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งในนักเรียนและนักการศึกษาหลายพันคนในสหรัฐฯ และอีก 90 ประเทศทั่วโลก ที่ใช้คลาสเรียนออนไลน์ Checkology เพื่อตรวจสอบข่าวสารที่ผ่านสายตาพวกเขาในทุกๆ วัน
ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้ผ่านเว็บไซต์ checkology.org หรือถ้าหากไม่มีเวลามากพอ มีบทความจากมหาวิทยาลัย Harvard และเว็บไซต์ด้านไอที digitaltrends.com ที่ระบุขั้นตอนในการคัดกรองข่าวจริง-ข่าวลวง
(checkology.org)
ที่มา :
www.voathai.com